ตามล่าหา “เอกิเบ็น” ข้าวกล่องรถไฟของญี่ปุ่น
เอกิเบ็น (駅弁) เป็นสิ่งที่มีแค่ที่ญี่ปุ่นเท่านั้นเลยก็ว่าได้ และก็เลยดึงดูดความสนใจของคนทั่วโลกอย่างมากทีเดียว ชื่อมีความหมายว่า ‘ข้าวกล่องสถานีรถไฟ’ โดยคำว่า ‘เอกิ’ แปลว่า สถานีรถไฟ ส่วนคำว่า ‘เบ็น’ ย่อมาจาก เบ็นโตะ (弁当 ข้าวกล่อง) ซึ่งเอกิเบ็นส่วนใหญ่จะแตกต่างจากข้าวกล่องทั่วไปที่หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ เพราะจะมีจำหน่ายในสถานีรถไฟเท่านั้น และบางทีก็วางจำหน่ายที่ เอกิเบ็นยะ (駅弁屋 ร้านข้าวกล่องสถานีรถไฟ) ที่ชานชาลาหรือแม้กระทั่งบนรถไฟเพื่อให้ผู้โดยสารที่เดินทางไกลๆ ได้กินรองท้องระหว่างทาง ญี่ปุ่นไม่เหมือนกับบางประเทศตรงที่เราสามารถทานอาหารบนรถไฟได้แบบไม่มีปัญหา ผู้โดยสารจึงสามารถรับประทานข้าวกล่องในระหว่างการเดินทางโดยรถไฟได้
ซุ้มขายเอกิเบ็น (ขวาสุด) ที่งานเอกิเบ็นยะมัตสึริ ในสถานีรถไฟโตเกียว (เครดิตรูปภาพ: JR East Foods Co., Ltd.)
ซุ้มขายเอกิเบ็นที่ชานชาลารถไฟ (เครดิตรูปภาพ: おぎのや/663highland/CC BY 2.5)
ในการเดินทางด้วยรถไฟในญี่ปุ่นนั้น เอกิเบ็นถือเป็นความสนุกที่สุดอย่างหนึ่ง ในบทความนี้ผมจะแนะนำความเป็นมาของเอกิเบ็น ทั้งวัฒนธรรมและความหลากหลาย รวมถึงแนะนำเอกิเบ็นดังๆ ที่ทั้งชาวท้องถิ่นและชาวต่างชาติต่างหลงรักให้ได้รู้จักกัน เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราไปสำรวจโลกของเอกิเบ็นกันเลยดีกว่า!
กำเนิดเอกิเบ็น
จุดเริ่มต้นของเอกิเบ็นเริ่มขึ้นในสมัยเดียวกับที่ญี่ปุ่นเริ่มพัฒนารางรถไฟสายแรกขึ้นมา ก่อนที่จะมีการเดินทางโดยรถไฟนั้น สิ่งที่มาก่อนเอกิเบ็นก็คือเบ็นโตะ (弁当) ที่มีประวัติยาวนานย้อนกลับไปในสมัยเอโดะ (江戸時代 เอโดะ จิได) ซึ่งวางจำหน่ายในโรงน้ำชาและโรงละครคาบุกิหรือโรงละครโน โดยมีชื่อเรียกในสมัยนั้นว่า มาคุโนอุจิ เบ็นโตะ (幕の内弁当 ข้าวกล่องระหว่างการแสดง) ต่อมาเมื่อการเดินทางโดยรถไฟเริ่มแพร่หลาย เบ็นโตะที่รับประทานบนรถไฟก็ถูกเรียกว่าเอกิเบ็น และกลายเป็นที่นิยมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
การขายเอกิเบ็นที่สถานีโยโคคาวะในอดีต (เครดิตรูปภาพ: おぎのや)
ความจริงแล้วกระแสความนิยมเอกิเบ็นเริ่มต้นขึ้นที่สถานีหนึ่ง นั่นคือสถานีโยโคคาวะ (横川駅 โยโคคาวะ เอกิ) ในจังหวัดกุนมะ (群馬県 กุนมะเค็น) ซึ่งมีเอกิเบ็นชื่อว่า โทโอเกะ โนะ คามะเมชิ (峠の釜めし) ที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้โดยสารรถไฟเป็นอย่างมาก สถานีนี้เคยเป็นสถานีกลางสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปคารุอิซาวะ (軽井沢) บนทางรถไฟสายหลักชินเอ็ทสึ (信越本線 ชินเอ็ทสึ ฮนเซ็น) โดยจะต้องมีการเชื่อมต่อรถไฟกับหัวรถจักรดีเซลก่อนเพื่อให้รถวิ่งขึ้นเนินระหว่างโยโคคาวะกับคารุอิซาวะได้ ขั้นตอนนี้ต้องใช้เวลา เพื่อไม่ให้เสียเวลาเปล่า จึงมีเอกิเบ็นจำหน่ายให้ผู้โดยสารที่ชานชาลานี้นั่นเอง!
พนักงานขาย (ซ้าย) และรถเข็นที่ใช้ขายโทโอเกะ โนะ คามาเมชิ (ขวา) (เครดิตรูปภาพ: おぎのや)
แต่นับตั้งแต่มีการเปิดตัวนากาโนะชินกันเซ็น (長野新幹線) ในปี 1997 ทางสันเขาอุซุอิที่อยู่ใกล้ๆ ก็ปิดตัวลง ทำให้สถานีโยโคคาวะกลายเป็นสถานีปลายทาง ภาพของผู้คนที่มาซื้อเอกิเบ็นระหว่างรอการต่อรถไฟจึงเหลือเพียงแค่ความทรงจำ แต่ว่าก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังคงมาเที่ยวที่นี่หรือแม้แต่มาตามหาเอกิเบ็นด้วย
(เพิ่มเติม: ผมเขียนเกี่ยวกับทางสันเขาอุซุอิไว้ในบทความก่อนหน้า คุณสามารถตามไปอ่านได้ที่นี่)
แนวคิดล้ำๆ ฉบับเอกิเบ็น
เอกิเบ็นต้องเป็นแบบไหน? (เครดิตรูปภาพ: photoAC)
แม้ว่าคนทั่วไปจะเข้าใจว่าเอกิเบ็นก็คือข้าวกล่องที่ขายในสถานีรถไฟ แต่ว่าความจริงแล้วก็มีจุดสังเกตที่แตกต่างระหว่างข้าวกล่องประเภทนี้กับข้าวกล่องทั่วไปด้วยเช่นกัน กล่องและแพ็กเกจจิ้งหรือกระดาษที่ใช้ห่อเอกิเบ็นจะดูโดดเด่นสะดุดตา และเดิมทีจะจำหน่ายในสถานีรถไฟเฉพาะแห่งเท่านั้น ทำให้คนท้องถิ่นจำนานมากมีความคิดที่ว่า “ถ้าจะไปสถานีนี้ละก็ ต้องลองเอกิเบ็นท้องถิ่นของที่นั่น!”
โลโก้อย่างเป็นทางการของเอกิเบ็น (เครดิตรูปภาพ: JR East/Carissa Loh/Nazrul Buang)
นักท่องเที่ยวที่ช่างสังเกตจะเห็นโลโก้หนึ่งบนเอกิเบ็น (ดูภาพด้านบน) โลโก้นี้เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ว่าเอกิเบ็นนี้วางจำหน่ายที่สถานีรถไฟ JRโดยองค์กรที่ได้รับอนุญาต
เอกิเบ็นรุ่นบุกเบิก
หนึ่งในเอกิเบ็นชุดแรกๆ ที่วางจำหน่ายในญี่ปุ่นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 (เครดิตรูปภาพ: Ekiben Museum)
แม้ว่าเอกิเบ็นจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการเดินทางโดยรถไฟ แต่ก็ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับเอกิเบ็นกล่องแรกที่ขายในสถานีรถไฟอย่างเป็นทางการ แต่ทฤษฎีที่มีคนกล่าวถึงมากที่สุดคือเอกิเบ็นชุดแรกวางจำหน่ายที่สถานีอุทสึโนมิยะ (宇都宮駅 อุทสึโนมิยะ เอกิ) โดยชิโรคิยะ (白木屋) โรงเตี๊ยมที่ให้สัมปทานโดยนิปปอนเรลเวย์ (日本鉄道 นิปปอน เททสึโด) บริษัทรถไฟเอกชนบริษัทแรกของญี่ปุ่น เอกิเบ็นดังกล่าวนี้ประกอบด้วยข้าวปั้น (おにぎりโอนิกิริ) 2 ลูก และหัวไชเท้าดอง (沢庵 ทาคุอัน) ห่อด้วยเปลือกไม้ไผ่ โดยวางจำหน่ายที่สถานีเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 1887
แพ็คเกจจิ้งแหวกแนว
ภาชนะใส่เอกิเบ็นแบบต่างๆ (เครดิตรูปภาพ: Ekiben Museum)
เอกิเบ็นนั้นมีมากมายหลายแบบจนทำให้หลายคนเลือกซื้อกันไม่ถูก ไม่ใช่แค่เมนูที่หลากหลาย รูปแบบแพ็กเกจจิ้งก็แตกต่างเช่นกัน! ผู้ผลิตเอกิเบ็นต่างทุ่มความคิดและความพยายามเพื่อให้มั่นใจว่าเอกิเบ็นของตนจะโดดเด่นที่สุด และต่อไปนี้คือวิธีการที่พวกเขาใช้เพื่อให้ผลงานของตัวเองออกมาเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
A) กระดาษห่อ
กระดาษที่ใช้ห่อเอกิเบ็นไม่ได้มีเพียงข้อมูลทั่วไปอย่างเช่นชื่อของเอกิเบ็น แหล่งผลิต และข้อความโน้ตเท่านั้น แต่ยังใช้ในการแนะนำและโปรโมทท้องที่นั้นๆ ด้วย (เช่น กระดาษห่อของเอบิเซ็นเรียวจิชาริ ที่ระบุอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดนีงาตะไว้) นี่เป็นวิธีที่ดีในการสร้างความประทับใจไม่รู้ลืมให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งบางคนถึงขั้นสะสมกระดาษห่อเหล่านี้ไว้เป็นที่ระลึกจากการขึ้นรถไฟเลยก็มี
B) กล่องบรรจุภัณฑ์
ใครว่ากล่องบรรจุภัณฑ์จะต้องเป็นแบบทั่วไปเท่านั้นละ? ผู้ผลิตเอกิเบ็นไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการทำกระดาษห่อเท่านั้น แต่รวมถึงกล่องบรรจุภัณฑ์ด้วย บ้างก็ทำออกมาในดีไซน์แบบดั้งเดิม บ้างก็คิดนอกกรอบด้วยการใช้วัสดุที่แตกต่างหรือแม้กระทั่งผนวกรวมศิลปะเข้าไปด้วย (เช่น ดารุมะเบ็นโตะ ที่กล่องบรรจุมีรูปร่างหน้าตาเหมือนตุ๊กตาดารุมะ, ฮิปปะริดะโคเมชิ ที่ใช้ภาชนะดินเผารูปร่างเหมือนที่ดักปลาหมึก เป็นต้น) และแน่นอนว่าย่อมต้องมีนักสะสมเอกิเบ็นที่ตระเวนไปสถานีรถไฟนับไม่ถ้วนเพียงเพื่อที่จะตามเก็บกล่องบรรจุภัณฑ์เอกิเบ็นที่หายากและมีจำนวนจำกัดเหล่านี้
กินร้อนหรือกินเย็น?
เอกิเบ็นไม่เหมือนกับอาหารทั่วไปตรงที่มักจะรับประทานแบบเย็นๆ หรือที่อุณหภูมิห้อง (เครดิตรูปภาพ: Ekiben Museum)
เอกิเบ็นไม่เหมือนกับอาหารทั่วไปตรงที่จะจำหน่ายให้รับประทานกันแบบเย็นๆ หรือที่อุณหภูมิห้องได้เลย ซึ่งจริงๆ แล้วนี่คือพ้อยท์หลักเลย เพราะมันถูกออกแบบมาให้รับประทานทั้งอย่างนั้นโดยไม่จำเป็นต้องนำไปอุ่นก่อน! ดังนั้นความท้าทายหลักในการเตรียมเอกิเบ็นก็คือจะทำให้มั่นใจว่าจะสามารถรับประทานแบบเย็นๆ ได้โดยไม่มีผลต่อรสชาติโดยรวมได้อย่างไร ผู้ผลิตเอกิเบ็นใช้วิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้
① ส่วนผสมบางอย่างจะแข็งขึ้นเมื่อทิ้งไว้นานๆ ผู้ผลิตเอกิเบ็นบางรายจึงเลือกใช้วัตถุดิบที่จะยังคงความนุ่มอยู่แม้เวลาจะผ่านไประยะหนึ่งแล้ว วัตถุดิบเหล่านี้รวมถึงเนื้อสัตว์ ท็อปปิ้ง ไปจนถึงข้าวที่ใช้ในการปรุงสูตรลับของตัวเองขึ้นมา
② อาหารมันๆ ก็จะแข็งขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปเช่นกัน ผู้ผลิตเอกิเบ็นจึงต้องแน่ใจว่าเอกิเบ็นของตนไม่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ หรือต้องพยายามเอาน้ำมันออกให้ได้มากที่สุด วิธีหนึ่งคือการต้มเนื้อบางประเภทแบบ double-boil เพื่อให้เนื้อนุ่มขึ้นและมันน้อยลง
③ อาหารมักจะสูญเสียรสชาติเมื่อเย็นลงตามเวลาที่ผ่านไป เอกิเบ็นจึงใช้เครื่องปรุงพิเศษและปรุงรสชาติให้เข้มข้นขึ้น การปรุงรสเนื้อมีความสำคัญมาก ผู้ผลิตเอกิเบ็นจำนวนมากจึงทำและใช้ซอสของตนเอง และในบางเจ้าก็ใช้ซอสที่มีรสเข้มขึ้นกว่าปกติหรือปรุงรสด้วยซอสซ้ำสองรอบ
④ เอกิเบ็นมักจะอัดแน่นด้วยข้าว วัตถุดิบหลากหลายอย่างรวมถึงท็อปปิ้งจนเต็มกล่อง การอัดจนแน่นจะทำให้เอกิเบ็นอยู่ตัว ทำให้มั่นใจได้ว่าอาหารข้างในจะไม่ผสมปะปนกัน
คัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดของภูมิภาค
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เอกิเบ็นได้ช่วยให้ของดีประจำท้องถิ่นในภูมิภาคต่างๆ ของญี่ปุ่น (特産品 โทคุซันฮิง) เป็นที่รู้จักมากขึ้น ญี่ปุ่นเป็นแหล่งรวมอาหารน่าทึ่ง ทำให้อาหารญี่ปุ่นเต็มไปด้วยของอร่อยที่หลากหลาย และเอกิเบ็นก็คือสิ่งที่แสดงให้เห็นของดีประจำแต่ละภูมิภาคได้เป็นอย่างดี เพราะผู้ผลิตเอกิเบ็นเลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงรสชาติอันมีเอกลักษณ์ในพื้นที่นั้นๆ นั่นเอง
ความจริงแล้วทุกๆ ปีจะมีเอกิเบ็นใหม่ๆ ออกมาหลายร้อยแบบ และผู้คนก็ต่างพยายามตามหาข้าวกล่องที่อยากได้ที่สุด เพราะเอกิเบ็นส่วนใหญ่จะวางจำหน่ายเฉพาะในสถานีที่กำหนดเท่านั้น ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือมีแม้กระทั่งการแข่งขันเอกิเบ็นทัวร์นาเมนต์เพื่อเฟ้นหาเอกิเบ็นที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น และจัดแสดงของเด่นของดีประจำแต่ละภูมิภาค ยกตัวอย่างเช่น บริษัทรถไฟเจอาร์ตะวันออก (JR East) จะเป็นเจ้าภาพจัดงาน Ekiben Grand Prix (駅弁味の陣 เอกิเบ็น อะจิ โนะ จิน) เพื่อจัดแสดงเอกิเบ็นที่ดีที่สุดจากญี่ปุ่นตะวันออก
แผนที่เอกิเบ็นที่มีชื่อเสียงจากทั่วญี่ปุ่น (เครดิตรูปภาพ: Google Maps/Ekiben Museum/JR East)
ผมจะขอแนะนำเอกิเบ็นที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นส่วนหนึ่งโดยแบ่งตามภูมิภาคของรถไฟ JR (ไล่จากเหนือลงใต้) นะ
(หมายเหตุ: ราคาของเอกิเบ็นแต่ละรายการด้านล่างเป็นราคาโดยประมาณและอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ บรรจุภัณฑ์และส่วนประกอบในเอกิเบ็นอาจแตกต่างกันไปตามปี/รุ่น)
พื้นที่ JR Hokkaido (JR北海道)
① คาคิเมชิ (かきめし)
สถานีหลัก: สถานี Akkeshi (厚岸駅)
ราคา: ~1,080 เยน
คาคิเมชิ (เครดิตรูปภาพ: Ekiben Museum)
เรามาเริ่มกันที่ภาคเหนือที่จังหวัดฮอกไกโด (北海道) ในเมืองอัคเคชิ (厚岸) ที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกสุดของจังหวัด เนื่องจากเป็นเมืองท่าที่หันหน้าออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้เมืองอัคเคชิรุ่งเรืองจากการเป็นท่าเรือประมงมาตั้งแต่สมัยเอโดะ โดยมีหอยนางรม (かき คากิ) เป็นของขึ้นชื่อ จึงไม่น่าแปลกใจที่เอกิเบ็นที่มีชื่อของเมืองนี้จะมีหอยนางรมเป็นไฮไลท์หลัก
คาคิเมชิ เป็นข้าวที่หุงในซุปหอยนางรม โรยด้วยสาหร่ายฮิจิกิ และท็อปปิ้งด้วยหอยนางรม หอยกาบ หอยแมลงภู่ และบัตเตอร์เบอร์ยักษ์แบบเน้นๆ เอกิเบ็นชุดนี้เปิดตัวในปี 1960 และได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวจากรสชาติที่เข้มข้นและรสสัมผัสที่โดดเด่น วางจำหน่ายที่สถานี Akkeshi (厚岸駅 อัคเคชิเอกิ) บนทางรถไฟสาย Nemuro Line (根室線 เนมุโรเซ็น) ในจังหวัดฮอกไกโด
② อิกะเมชิ (いかめし)
สถานีหลัก: สถานี Mori (森駅)
ราคา: ~780 เยน
อิกะเมชิ (เครดิตรูปภาพ: Ekiben Museum)
เอกิเบ็นชุดถัดไปของฮอกไกโดน่าจะเป็นเอกิเบ็นที่โดดเด่นมากที่สุดในภูมิภาคนี้ นักท่องเที่ยวสามารถลิ้มลองหนึ่งในเอกิเบ็นที่มีชื่อเสียงที่สุดของฮอกไกโดได้ที่เมืองโมริ (森町 โมริมาจิ) อันเงียบสงบ ภายในกล่องข้าวประกอบด้วยหมึกญี่ปุ่น (マイカ ไมกะ) ยัดไส้ข้าวและข้าวเหนียว (อัตราส่วน 2:1) ที่นำไปเคี่ยวในซอสถั่วเหลือง เอกิเบ็นสุดพิเศษชุดนี้ได้รับการยกย่องจากรสชาติที่เรียบง่ายแต่ล้ำลึก และมักจะปรากฏในการแข่งขันเอกิเบ็นมากมายหลายงานเลย
อิกะเมชิเป็นหนึ่งในเอกิเบ็นที่ขายดีที่สุดของญี่ปุ่นมาตั้งแต่เปิดตัวในปี 1941 แม้ว่าจะจำหน่ายที่สถานี Mori (森駅 โมริเอกิ) บนทางรถไฟสายหลักฮาโกดาเตะ (函館本線 ฮาโกดาเตะฮนเซ็น) ในฮอกไกโดเป็นหลัก แต่ว่ายอดขายมากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์นั้นมาจากการแข่งขันเอกิเบ็นและการจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า และเมื่อก่อนที่สถานีก็มักจะขายหมดเกลี้ยง
พื้นที่ JR East (JR東日本)
③ โทริเมชิ (鶏めし)
สถานีหลัก: สถานี Odate (大館駅)
ราคา: ~900 เยน
โทริเมชิ (เครดิตรูปภาพ: JR East)
ขยับลงจากฮอกไกโดมาที่ภูมิภาคโทโฮคุ เริ่มต้นที่จังหวัดอาคิตะ (秋田県 อาคิตะเคน) เมืองโอดาเตะ (大館) ในจังหวัดอาคิตะเป็นถิ่นที่อยู่ของฮิไนจิโดริ (比内地鶏 ไก่ฮิไน) ไก่ที่มีราคาแพงมากที่สุดพันธุ์หนึ่งของญี่ปุ่น จึงเป็นเหตุผลให้เอกิเบ็นของเมืองนี้ใช้เนื้อไก่นี้เป็นส่วนประกอบชูโรงนั่นเอง
(หมายเหตุ: ผมเขียนเกี่ยวกับฮิไนจิโดริเอาไว้ในบทความที่แล้ว อ่านได้ที่นี่เลย!)
เอกิเบ็นชุดนี้ประกอบด้วยข้าวอาคิตะโคมาจิ (あきたこまち) ที่หุงในน้ำซุปกระดูกไก่และซีอิ๊วขาว ท็อปปิ้งด้วยเนื้อไก่ฮิไนเปรี้ยวหวานและไข่หวาน พร้อมด้วยผักดองและของนึ่งเป็นเครื่องเคียง ตัวข้าวและเนื้อไก่มีรสหวานที่โดดเด่น ทำให้เอกิเบ็นนี้มีชื่อเสียงเรียงนามนับตั้งแต่เปิดตัวในปี 1947
และที่สุดยอดมากๆ ก็คือ โทริเมชิได้รับรางวัลเกียรติยศสูงสุดของ 'Ekiben General' ที่งาน Ekiben Grand Prix สองครั้งในปี 2015 และ 2016 ว่ากันว่ามียอดขายมากถึง 470,000 ชุดในหนึ่งปีเลยทีเดียว! โทริเมชิเป็นความภาคภูมิใจของโอดาเตะและจังหวัดอาคิตะ และคนรักเอกิเบ็นไม่ควรพลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเดินทางผ่านสถานีโอดาเตะ
④ อุนิเบ็นโตะ (うに弁当)
สถานีหลัก: สถานนี Kuji (久慈駅)
ราคา: ~1,570 เยน
อุนิเบ็นโตะ (เครดิตรูปภาพ: Ekiben Museum)
คนรักหอยเม่น (うに อุนิ) คงต้องอยากแวะที่สถานี Kuji ในจังหวัดอิวาเตะ (岩手県 อิวาเตะเคน) เป็นแน่เพราะเอกิเบ็นตัวแทนของสถานีนี้อัดแน่นไปด้วยไข่หอยเม่นที่คลุมทั้งกล่องจนมิดโดยมีข้าวซ่อนอยู่ด้านล่าง มาพร้อมเลมอนและหัวไชเท้าดองฝานเป็นแผ่น
นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 1986 เอกิเบ็นนี้ก็ฮอตฮิตเป็นพิเศษจากหลายเหตุผลด้วยกัน โดยจะมีจำหน่ายเฉพาะช่วงที่ไม่ใช่ฤดูหนาว (เดือนเมษายน-ตุลาคม ยกเว้นวันจันทร์) ในจำนวนจำกัดต่อวันเท่านั้น ถือเป็นเอกิเบ็นที่ได้รับความนิยมสูงในหมู่นักท่องเที่ยว จึงต้องรีบหาซื้อให้ไวก่อนที่จะหมดเสียก่อน!
⑤ กิวตันเบ็นโตะ (牛タン弁当)
สถานีหลัก: สถานี Sendai (仙台駅)
ราคา: ~1,100 เยน
กิวตันเบ็นโตะ (เครดิตรูปภาพ: Ekiben Museum)
เมื่อพูดถึงเซ็นได (仙台) เมืองที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดมิยางิ (宮城県 มิยางิเค็น) และภูมิภาคโทโฮคุแล้ว ผู้คนก็มักจะนึกถึงกิวตัน (牛タン) หรือลิ้นวัวย่าง อาหารเลิศรสและสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นเซ็นไดได้ดี เอกิเบ็นของเมืองนี้จึงมีกิวตันมาเป็นไฮไลท์ไปโดยปริยาย
เอกิเบ็นชุดนี้ออกแนวเรียบง่าย มีแค่ลิ้นวัวย่างถ่าน 5-6 ชิ้นวางบนข้าว กับผักดองนิดหน่อยเป็นเครื่องเคียง แต่การได้รับประทานเอกิเบ็นนี้ช่างเป็นประสบการณ์ที่แสนพิเศษ และความลับก็อยู่ในภาชนะคายความร้อนที่สามารถนำไปอุ่นเพื่อให้รสชาติอร่อยมากขึ้นได้นั่นเอง
เอกิเบ็นนี้เปิดตัวในปี 1990 จึงยังจัดว่าเป็นน้องใหม่อยู่มาก ตัวเอกิเบ็นมีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งทั้งหมดได้สร้างชื่อเสียงให้กับสถานี Sendai อย่างมาก สามารถหาซื้อเอกิเบ็นนี้ได้ที่โทโฮคุชินคันเซ็น (東北新幹線) และห้างสรรพสินค้าชั้นนำบางแห่งในโตเกียว ด้วยเอกิเบ็นกล่องนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเพลิดเพลินไปกับกิวตันไม่เฉพาะแค่ในเซนไดเท่านั้น แต่ในระหว่างการเดินทางสู่ตัวเมืองด้วย
⑥ ชาเกะฮาราโกะเมชิ (鮭はらこめし)
สถานีหลัก: สถานี Sendai (仙台駅)
ราคา: ~1,400 เยน
ชาเกะฮาราโกะเมชิ (เครดิตรูปภาพ: JR East)
หลายคนอาจจะแปลกใจว่ากิวตันไม่ได้เป็นตัวแทนของเซ็นไดเสมอไป เพราะก่อนจะมีกิวตันเบ็นโตะนั้น เอกิเบ็นอันดับหนึ่งของเมืองนี้คือชาเกะฮาราโกะเมชิ ซึ่งเป็นข้าวหน้าปลาและไข่ปลาแซลมอน โดยมีขึ้นเพื่อฉลองการเปิดสถานี Sendai เส้นทาง Tōhoku Shinkansen ที่สร้างขึ้นใหม่ระหว่างสถานี Omiya (大宮駅 โอมิยะเอกิ) และสถานี Morioka (盛岡駅 โมริโอกะเอกิ) ในปี 1982 และเริ่มวางจำหน่ายทั่วไปหลังจากนั้นเพียงสองปีในปี 1984 โดยเราสามารถหาซื้อเอกิเบ็นนี้ได้ที่สถานี Sendai เช่นเดียวกับกิวตันเบ็นโตะ
⑦ กิวนิคุโดมันนากะ (牛肉どまん中)
สถานีหลัก: สถานี Yonezawa (米沢駅)
ราคา: ~1,250 เยน
กิวนิคุโดมันนากะ (เครดิตรูปภาพ: JR East)
เมื่ออยู่ที่โยเนซาวะ (米沢) ให้กินเนื้อโยเนซาวะ (米沢牛 โยเนซาวะกิว) เมืองทางตอนใต้ของจังหวัดยามากาตะ (山形県 ยามากาตะเค็น) แห่งนี้มีชื่อเสียงเรื่องเนื้อโยเนซาวะในตำนาน ซึ่งเป็นหนึ่งในสามแบรนด์เนื้อวัวที่โด่งดังที่สุดในญี่ปุ่นร่วมกับเนื้อมัทสึซากะ (松阪牛 มัทสึซากะกิว) และเนื้อโกเบ (神戸牛 โกเบกิว) เพราะอย่างนี้เองเนื้อโยเนซาวะจึงมาอยู่ในเอกิเบ็นที่เป็นตัวเแทนของเมืองนี้อย่างไม่ต้องสงสัย
(หมายเหตุ: ผมได้พูดถึงเนื้อโยเนซาวะในบทความก่อนหน้านี้ด้วย ตามไปอ่านได้ที่นี่!)
เอกิเบ็นนี้ประกอบด้วยเนื้อโยเนซาวะตุ๋นรสเผ็ดหวานและเนื้อสับ (牛そぼろ กิวโซโบโระ) โปะบนข้าวโดมันนากะ (どまん中) ที่ปลูกในท้องถิ่น เสิร์ฟพร้อมกับคามาโบโกะ ไข่หวาน และหัวไชเท้าดอง เป็นเมนูอาหารง่ายๆ ที่ผสมผสานสองสิ่งที่ดีที่สุดของโยเนซาวะคือ เนื้อวัวและข้าว นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 1993 เอกิเบ็นชุดนี้ก็ได้รับความนิยมอย่างมากในการแข่งขันเอกิเบ็นและห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ เสมอมา
ยังมีกิวนิคุโดมันนากะอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น มิโซะ แกงกะหรี่ หรือแม้แต่บิบิมบับ ถึงแม้ว่าเดิมทีเอกิเบ็นนี้จะวางจำหน่ายที่สถานี Yonezawa (米沢駅 โยเนซาวะเอกิ) แต่ก็ยังหาซื้อได้ตามสถานที่ต่างๆ เช่น สถานี Tokyo (東京駅 โตเกียวเอกิ) และแหล่งช้อปปิ้งใหญ่ๆ อย่างเช่นห้างสรรพสินค้าเคโอ ในชินจูกุ เป็นต้น
⑧ โนริโนริเบ็น (海苔のりべん)
สถานีหลัก: สถานี Koriyama (郡山駅)
ราคา: ~1,000 เยน
โนริโนริเบ็นโตะรูปแบบหนึ่ง (เครดิตรูปภาพ: JR East)
โนริโนริเบ็น เป็นเอกิเบ็นประกอบด้วยวัตถุดิบอันเป็นแก่นแท้ของอาหารญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ ตามชื่อเลย ส่วนประกอบหลักที่เป็นไฮไลท์ก็คือ โนริ (海苔 สาหร่าย) เอกิเบ็นนี้เป็นอาหารพิเศษจากเมืองโคริยามะ (郡山) ในจังหวัดฟุกุชิมะ (福島県 Fukushima-ken)
ข้างในกล่องประกอบด้วยข้าวที่ปลูกในท้องถิ่นห่อโนริ โรยด้วยสาหร่ายทะเลซึคุดานิ (佃煮) ปลาโอแห้งขูดฝอย และบ๊วยดองด้านบน มาพร้อมเครื่องเคียงได้แก่ รากโกโบ มันฝรั่งกุ้ง และอื่นๆ
⑨ เอบิเซ็นเรียวจิราชิ (えび千両ちらし)
สถานีหลัก: สถานี Niigata (新潟駅)
ราคา: ~1,380 เยน
เอบิเซ็นเรียวจิราชิ (เครดิตรูปภาพ: JR East)
นีงาตะ (新潟) เป็นเมืองที่หันหน้าออกทะเลญี่ปุ่นโดยตรง จึงมีชื่อเสียงเรื่องอาหารทะเลมาก และก็เป็นจังหวัดที่มีข้าวโคชิฮิคาริ (コシヒカリ) ที่ขึ้นชื่อด้วยเช่นเดียวกัน เอกิเบ็นประจำเมืองนี้จึงมีวัตถุดิบสองอย่างข้างต้นอยู่ในกล่องไปโดยปริยาย ภายในประกอบด้วยอาหารทะเลมากมาย ได้แก่ คาบายากิ (蒲焼) ปลาไหลย่าง ปลาหมึกแห้ง ปลาแชดหมักน้ำส้มสายชู (コハダ โคฮาดะ) และกุ้งนึ่งที่สอดไส้อยู่ระหว่างไข่เจียวด้านบนและข้าวที่ปลูกในท้องถิ่นด้านล่าง
เอบิเซ็นเรียวจิราชิถือเป็นเอกิเบ็นที่หรูหราด้วยราคาที่สูงกว่าเอกิเบ็นทั่วไป โดยสามารถหาซื้อได้ที่สถานี Niigata และสถานี Tokyo ในช่วงที่มีงานอิเวนต์พิเศษ
⑩ โทเกะ โนะ คามะเมชิ (峠の釜飯)
สถานีหลัก: สถานี Yokokawa (横川駅)
ราคา: ~1,100 เยน
โทเกะ โนะ คามะเมชิ (เครดิตรูปภาพ: JR East)
ครั้งแรกที่ได้เห็นโทเกะ โนะ คามะเมชิ ไม่ว่าใครก็ต้องสะดุดตากับภาชนะดินเผาที่ดูแปลกตานี้ นี่คือหนึ่งในเอกิเบ็นที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่น ชื่อนี้แปลว่า 'ข้าวปั้นดินเผาแห่งช่องเขา' ซึ่งก็มาจากภูมิประเทศที่เป็นภูเขาของภูมิภาคนี้ ประกอบด้วยข้าวกล้อง ไก่ หน่อไม้ รากโกโบ เห็ดหอม เกาลัด ปลาซาร์ดีน ไข่นกกระทา ขิงดอง และถั่วลันเตา เอกิเบ็นนี้วางจำหน่ายที่สถานีโยโคคาวะมาตั้งแต่ปี 1953
⑪ ดารุมะเบ็นโตะ (だるま弁当)
สถานีหลัก: สถานี Takasaki (高崎駅)
ราคา: ~1,100 เยน
ดารุมะเบ็นโตะ (เครดิตรูปภาพ: JR East)
เมืองทาคาซากิ (高崎) ในจังหวัดกุนมะนั้นขึ้นชื่อเรื่องดารุมะ (達磨) ซึ่งเป็นตุ๊กตาแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่มีลักษณะกลวงและกลม ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เอกิเบ็นของเมืองจะมาในภาชนะที่มีรูปร่างเหมือนดารุมะ ดารุมะเบ็นโตะนั้นคล้ายกับโทเกะ โนะ คามะเมชิอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือเป็นหนึ่งในเอกิเบ็นที่โดดเด่นที่สุดในญี่ปุ่น และสองคือเป็นเอกิเบ็นที่นำเสนออาหารภูเขาของกุนมะด้วย เอกิเบ็นนี้ประกอบด้วยไก่ ไก่ฮาจิมัน (八幡) โรล ก้อนบุกแดงและดำ เห็ดหอม หน่อไม้ ผักภูเขาตุ๋น รากโกโบ มะเขือม่วง และเกาลัด ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ได้มีการทำดารุมะเบ็นโตะรุ่นพิเศษออกมา เช่น เบ็นโตะสีเขียวเพื่อฉลองการเปิดตัวนากาโนะ ชินคันเซ็นในปี 1997 เบ็นโตะสีขาวสำหรับโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 1998 หรือแม้แต่เวอร์ชั่นเฮลโลคิตตี้ในปี 2000
⑫ ชิอุไมเบ็นโตะ (シウマイ弁当)
สถานีหลัก: สถานี Yokohama (横浜駅)
ราคา: ~860 เยน
ชิอุไมเบ็นโตะรูปแบบหนึ่ง (เครดิตรูปภาพ: JR East)
เมืองโยโกฮาม่า (横浜) เป็นที่ตั้งของไชน่าทาวน์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น (横浜中華街 โยโกฮาม่า จูกะไก) ดังนั้นจะมีอะไรดีไปกว่าการทำเอกิเบ็นสไตล์จีนให้เป็นตัวแทนของเมืองนี้กันละ อาหารจีนนั้นมีความหลากหลายสูง แต่เมนูหนึ่งที่โดดเด่นมากๆ ในญี่ปุ่นคือขนมจีบหรือ ชิอุไม ในเอกิเบ็นชุดนี้ คุณจะได้ข้าวที่มีรูปทรงกระบอกเหมือนฟางอัดก้อน กับชิอุไม (5-6 ชิ้น) ไก่ทอด คามาโบโกะ และไข่หวาน
วัตถุดิบในเอกิเบ็นนี้ถูกปรับเปลี่ยนหลายครั้งตั้งแต่ที่เปิดตัวในปี 1954 โดยเราสามารถหาซื้อได้ที่สถานี Yokohama รวมถึงสถานีรถไฟและห้างสรรพสินค้าในตัวเมืองด้วย
พื้นที่ JR Central (JR東海)
⑬ อินาริซูชิ (稲荷寿司)
สถานีหลัก: สถานี Toyohashi (豊橋駅)
ราคา: ~580 เยน
อินาริซูชิ (เครดิตรูปภาพ: Ekiben Museum)
อินาริซูชิ จัดว่าเป็นหนึ่งในซูชิที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด ทำจากเป็นข้าวผสมน้ำส้มสายชูห่อด้วยเต้าหู้ทอดที่เรียกว่า อะบุระอะเกะ (油揚げ) โดยตั้งชื่อตามเทพเจ้าชินโตอินาริ เทพผู้มีสุนัขจิ้งจอกเป็นผู้ส่งสารที่ว่ากันว่าชอบเต้าหู้ทอด และรูปร่างของอินาริซูชิก็คล้ายกับหูจิ้งจอกด้วย เราสามารถพบกับเอกิเบ็นที่เต็มไปด้วยอินาริซูชินี้ได้ในเมืองโทโยฮาชิ (豊橋)
คนที่ซื้อครั้งแรกอาจรู้สึกว่าเอกิเบ็นนี้ออกจะดูเรียบง่ายเกินไปสักหน่อย แต่อย่าให้รูปลักษณ์ภายนอกหลอกคุณได้ เพราะมีคนที่บอกว่าเอกิเบ็นนี้เป็นหนึ่งในเอกิเบ็นที่อร่อยที่สุดในญี่ปุ่นเลยทีเดียว ถึงจะเรียบง่ายแต่ว่าลึกซึ้งนะ
⑭ กันโซะไทเมชิ (元祖鯛めし)
สถานีหลัก: สถานี Shizuoka (静岡駅)
ราคา: ~750 เยน
กันโซะ ไทเมชิ (เครดิตรูปภาพ: Ekiben Museum)
สำหรับใครที่ชอบทานปลา ต้องไปที่สถานี Shizuoka (静岡駅 ชิสุโอกะเอกิ) เมืองนี้ภูมิใจนำเสนอปลาไท (鯛 ไท) เป็นดาวเด่นในเอกิเบ็น ในกล่องข้าวอัดแน่นด้วยปลาไทด้านบนและข้าวที่อยู่ด้านล่าง นี่คือหนึ่งในเอกิเบ็นที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นซึ่งเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 1897
พื้นที่ JR West (JR西日本)
⑮ มาสุ โนะ ซูชิ (ますのすし)
สถานีหลัก: สถานี Toyama (富山駅)
ราคา: ~1,500 เยน
มาสุ โนะ ซูชิ (เครดิตรูปภาพ: Ekiben Museum)
ถ้าหากว่าคุณยังไม่จุใจกับเมนูปลา ก็มุ่งหน้าไปต่อกันที่สถานี Toyama (富山駅 โทยามะเอกิ) ที่มีปลาเทร้าท์ (ます มาสุ) เป็นของขึ้นชื่อประจำเมืองประจำจังหวัดกันเลย สำหรับใครที่ซื้อเป็นครั้งแรกจะต้องประหลาดใจแน่ๆ เพราะเอกิเบ็นนี้มาในถังไม้เลย เมื่อเปิดฝาออกจะพบกับปลาเทราท์ที่เต็มกล่องโดยมีข้าวอยู่ข้างใต้ที่ถูกห่อด้วยใบไผ่ท้ังหมด
เอกิเบ็นชุดนี้จัดว่าเป็นตัวเลือกที่หรูหราและได้รับคำชมมากมายจากผู้ที่ได้ลิ้มลอง และยังได้รับรางวัล 'Ekiben Master' (駅弁の達人 เอกิเบ็น โนะ ทัทสึจิน) ในปี 2004 ระหว่างแคมเปญท่องเที่ยว 'DISCOVER WEST' ของ JR West อีกด้วย
⑯ เอจิเซ็นคานิเมชิ (越前かにめし)
สถานีหลัก: สถานี Fukui (福井駅)
ราคา: ~1,300 เยน
เอจิเซ็นคานิเมชิ (เครดิตรูปภาพ: Ekiben Museum)
คุณชอบปูหรือเปล่า จุดหมายต่อไปคือสถานี Fukui ที่นักท่องเที่ยวจะพบกับเอกิเบ็นที่อัดแน่นไปด้วยเนื้อปู เซ็ทนี้เปิดตัวเมื่อปี 1961 ประกอบด้วยข้าวที่หุงกับมันปูมิโสะ และเนื้อปูหิมะพูนๆ ซึ่งเป็นของดีประจำเมืองนี้
เอกิเบ็นแบบดั้งเดิมเซ็ทนี้เป็นหนึ่งในเอกิเบ็นท่ีได้รับความนิยมมากที่สุดในญี่ปุ่น และอาจจะเป็นตัวแทนตัวเต็งเลยก็ได้ นักท่องเที่ยวต้องไม่ควรพลาดเอกิเบ็นเซ็ทนี้หากมีโอกาสได้ไปเที่ยวฟุกุอิในญี่ปุ่นตะวันตก
⑰ กันโซะคานิซูชิ (元祖かにずし)
สถานีหลัก: สถานี Tottori (鳥取駅)
ราคา: ~1,280 เยน
กันโซะคานิซูชิ (เครดิตรูปภาพ: Ekiben Museum)
ถ้าเกิดว่ายังทานปูไม่จุใจ ก็ไปต่อกันที่สถานี Tottori (鳥取駅 Tottori-eki ทตโตริเอกิ) เลย จังหวัดและเมืองนี้ขึ้นชื่อเรื่องปู แถมยังเป็นแหล่งกำเนิดเอกิเบ็นซูชิปูที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1952 อีกด้วย เพราะที่นี่มีปูให้ทานได้ตลอดทั้งปีจากการใช้เทคนิคการถนอมอาหารรูปแบบใหม่นั่นเอง
เอกิเบ็นชุดนี้ประกอบด้วยข้าวอินาบะผสมน้ำส้มสายชู โปะด้านบนด้วยเนื้อปูและไข่หวานมากมายเช่นเดียวกับเอกิเบ็นของจังหวัดฟุกุอิ และยังได้รับรางวัล 'Ekiben Master' ในปี 2004 ระหว่างแคมเปญการท่องเที่ยว 'DISCOVER WEST' ด้วย
⑱ ฮิปปาริดาโกะเมชิ (ひっぱりだこ飯)
สถานีหลัก: สถานี Nishi-Akashi (西明石駅)
ราคา: ~1,100 เยน
ฮิปปาริดาโกะเมชิ (เครดิตรูปภาพ: Ekiben Museum)
ที่สถานี Nishi-Akashi นักท่องเที่ยวจะพบกับเอกิเบ็นชนิดพิเศษที่มีชื่อว่า ฮิปปาริดาโกะเมชิ เอกิเบ็นนี้เปิดตัวในปี 1998 เพื่อเฉลิมฉลองการเปิดสะพานอาคาชิไคเคียวอันงดงาม แต่หลังจากนั้นก็ได้รับการยอมรับในระดับประเทศเลยทีเดียว
เอกิเบ็นนี้มาในภาชนะเครื่องปั้นดินเผาสีน้ำตาลที่มีรูปร่างเหมือนกับดักปลาหมึกแบบดั้งเดิม ข้างในเป็นข้าวที่ปรุงรสด้วยซีอิ๊ว โดยมีปลาหมึกอากาชิตุ๋น ซูริมิเทมปุระ หน่อไม้ ปลาไหลคองเกอร์ เห็ดมัตสึทาเกะ แครอท และอื่นๆ อีกมากมายโปะอยู่ด้านบน โดยเป็นเอกิเบ็นที่ได้รับรางวัล 'Ekiben Master' ในปี 2004
⑲ ชาโมจิคาคิเมชิ (しゃもじかきめし)
สถานีหลัก: สถานี Hiroshima (広島駅)
ราคา: ~1,300 เยน
ชาโมจิคาคิเมชิ (เครดิตรูปภาพ: Ekiben Museum)
สถานีฮิโรชิม่าเป็นถิ่นของชาโมจิคาคิเมชิ เอกิเบ็นที่มีหอยนางรมเป็นวัตถุดิบพิเศษประจำท้องถิ่น เปิดตัวครั้งแรกในปี 1968 แพ็คเกจจิ้งมีรูปร่างเหมือนทัพพีตักข้าวสีแดง มาพร้อมข้าวที่หุงกับน้ำสต็อกหอยนางรม หอยนางรมต้ม หอยนางรมทอด หอยนางรมผสมมิโสะ ไข่หวาน และผักฮิโรชิม่าดอง เอกิเบ็นนี้มีจำหน่ายเฉพาะในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงมีนาคมเท่านั้น เพราะเป็นฤดูกาลของหอยนางรมนั่นเอง
⑳ อานาโกะเมชิ (あなごめし)
สถานีหลัก: สถานี Miyajimaguchi (宮島口駅)
ราคา: ~2,200 เยน
อานาโกะเมชิ (เครดิตรูปภาพ: Ekiben Museum)
ปลาไหลคองเกอร์ (あなご อานาโกะ) ถือเป็นของดีประจำจังหวัดฮิโรชิม่าอีกอย่างหนึ่ง ที่สถานีมิยาจิมะกุจิ สถานีรถไฟที่เป็นประตูสู่มิยาจิมะ หนึ่งในจุดชมวิวสามแห่งที่ดีที่สุดของญี่ปุ่น (日本三景 นิฮนซันเคอิ) นั้น นักท่องเที่ยวจะสามารถลิ้มลองอะนาโกะเมชิอันทรงคุณค่า ซึ่งประกอบด้วยปลาไหลย่างสไตล์คาบายากิมากมายที่ชุ่มฉ่ำด้วยซอสถั่วเหลืองซึ่งผ่านการย่างสามครั้ง แล้วนำมาวางเรียงบนข้าวที่หุงในน้ำสต็อกปลาไหลคองเกอร์อีกที
เอกิเบ็นชุดนี้เปิดตัวตั้งแต่ปี 1901 ทำให้เป็นหนึ่งในเอกิเบ็นที่เก่าแก่ที่สุด และแฟนๆ เอกิเบ็นรวมถึงผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็บอกว่านี่คือเอกิเบ็นที่ดีที่สุดในญี่ปุ่นเลยทีเดียว เนื่องจากเป็นเอกิเบ็นที่หรูหรา ทำให้มีราคาสูงกว่าเอกิเบ็นทั่วไป และก็ไม่น่าแปลกใจเลยที่เอกิเบ็นนี้จะได้รับรางวัล 'Ekiben Master' ในปี 2004
พื้นที่ JR Shikoku (JR四国)
㉑ เซโตะ โนะ โอชิซูชิ (瀬戸の押寿司)
สถานีหลัก: สถานี Imabari (今治駅)
ราคา: ~1,400 เยน
เซโตะ โนะ โอชิซูชิรูปแบบหนึ่ง (เครดิตรูปภาพ: Ekiben Museum)
ต่อไปเราจะมุ่งหน้าไปยังชิโกกุ (四国) ซึ่งมีเอกิเบ็นเรือธงอยู่ที่สถานี Imabari ในจังหวัดเอฮิเมะ (愛媛県 เอฮิเมะเคน) โอชิซูชิ เป็นซูชิชนิดพิเศษที่ทำโดยการกดข้าวปั้นซูชิและส่วนผสมอื่นๆ ลงในกล่องหรือแม่พิมพ์ ที่นี่นักท่องเที่ยวจะได้พบกับเอกิเบ็นที่แสดงให้เห็นสิ่งนั้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ
เซโตะ โนะ โอชิซูชิ เป็นเอกิเบ็นเรียบง่ายแต่ประณีตที่มีหน้าตาสวยดึงดูดสายตาและรสชาติที่น่าทึ่ง มาในภาชนะไม้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ข้าวผสมน้ำส้มสายชู ใบไผ่ และปลากระพงที่จับได้สดๆ จากทะเลเซโตะใน (瀬戸内海 เซโตะ ไนไก) ที่อยู่ใกล้ๆ
พื้นที่ JR Kyushu (JR九州)
㉒ คาชิวะเมชิ (かしわめし)
สถานีหลัก: สถานี Orio (折尾駅)
ราคา: ~700 เยน
คาชิวะเมชิ (เครดิตรูปภาพ: Ekiben Museum)
และแล้วเราก็เดินทางมาถึงภูมิภาคคิวชู (九州) ทางตอนใต้ เริ่มต้นที่จังหวัดฟุกุโอกะ (福岡県 ฟุกุโอกะเค็น) สถานี Orio เป็นถิ่นกำเนิดของคาชิวะเมชิ ซึ่งได้รับการขนานนามจากแฟน ๆ ว่าเป็นเอกิเบ็นเนื้อไก่ที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น ประกอบด้วยข้าวที่หุงในน้ำซุปไก่ สาหร่ายสับ ไข่หวาน และเนื้อไก่ที่เรียกว่าคาชิวะ (かしわ)
แม้ว่าจะมีแหล่งกำเนิดที่สถานี Orio แต่ว่าเราก็ยังสามารถซื้อเอกิเบ็นนี้ได้ในสถานีรถไฟอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงบนทางรถไฟสายหลัก Kagoshima (鹿児島本線 คาโกชิมะฮนเซ็น) เช่น สถานี Yahata (八幡駅 ยาฮาตะเอกิ) และสถานี Kurosaki (黒崎駅 คุโรซากิเอกิ) เป็นต้นด้วย
㉓ อาริตะยากิคาเร (有田焼カレー)
สถานีหลัก: สถานี Arita (有田駅)
ราคา: ~1,890 เยน
อาริตะยากิคาเร (เครดิตรูปภาพ: Ekiben Museum)
คุณอาจคุ้นเคยกับแกงกะหรี่ญี่ปุ่นอยู่แล้ว แต่เคยได้ยินเอกิเบ็นแกงกะหรี่ญี่ปุ่นหรือเปล่า? สถานีอาริตะในจังหวัดซากะ (佐賀県) เป็นที่ที่คุณสามารถลิ้มลองแกงอาริตะยากิสูตรพิเศษที่ใส่มาในภาชนะกระเบื้องเคลือบแบบอาริตะ พร้อมด้วยข้าวแกงเผ็ดกับเนื้อสับ แกงกะหรี่นี้ทำจากเครื่องเทศ 28 ชนิด อบในภาชนะกระเบื้องเคลือบ
อาริตะยากิคาเรเปิดตัวในปี 2007 และได้รางวัลที่ 1 ในงาน Kyushu Ekiben Ranking ครั้งที่ 7 เมื่อปี 2010 เอกิเบ็นนี้มีชื่อเสียงในหมู่คนรักเอกิเบ็นจากดีไซน์ที่แปลกใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรวมกับเครื่องชามกระเบื้องเคลือบอาริตะด้วย
㉔ เฮียะคุเน็น โนะ ทาบิโมโนกาตาริ คาเรอิงาวะ (百年の旅物語かれい川)
สถานีหลัก: สถานี Kareigawa Station (嘉例川駅)
ราคา: ~1,200 เยน
เฮียะคุเน็น โนะ ทาบิโมโนกาตาริ คาเรอิงาวะ (เครดิตรูปภาพ: Ekiben Museum)
และแล้วเรามาถึงจุดสิ้นสุดของการเดินทางที่ตอนใต้สุด ณ สถานี Kareigawa ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเอกิเบ็นที่มีชื่อเป็นบทกวีว่า เฮียะคุเน็น โนะ ทาบิโมโนกาตาริ คาเรอิงาวะ ซึ่งแปลว่า 'เรื่องราวของการเดินทาง 100 ปี: คาเรอิงาวะ' ที่เปิดตัวในปี 2004 เพื่อเฉลิมฉลองการเปิดตัวคิวชูชินคันเซ็น (九州新幹線) ในปี 2004 และรถไฟด่วนพิเศษ ฮายาโตะ โนะ คาเสะ (はやとの風)
ตัวกล่องห่อหุ้มด้วยไม้ไผ่ ด้านในเป็นข้าวที่หุงกับเห็ดหอมและหน่อไม้ ซัตสึมะอาเกะ (薩摩揚げ ทอดมันปลาสไตล์คาโกชิมะ) คร็อกเก้ เห็ด และเห็ดหอมกับหน่อไม้ตุ๋น เอกิเบ็นนี้มักจะได้อยู่ในการจัดอันดับ Kyushu Ekiben Ranking (九州駅弁ランキング) โดย JR Kyushu อยู่เป็นประจำ ทุกปีจะติดอยู่ใน 5 อันดับแรก และขายได้มากถึง 6,000 กล่องในแต่ละปี
เอกิเบ็นนั้นมีหลากหลายรูปแบบและมีเอกิเบ็นใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ ทุกปี ทำให้ผู้คนต่างอยากที่จะค้นหาเอกิเบ็นใหม่ๆ อยู่เสมอ และการเพลิดเพลินไปกับเอกิเบ็นแสนอร่อยพร้อมชมทิวทัศน์ที่สวยงามจากหน้าต่างรถไฟก็เป็นประสบการณ์ที่ทุกคนคู่ควร! เอกิเบ็นทุกกล่องเต็มไปด้วยเสน่ห์อันงดงามและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น และเนื่องจากเราสามารถรับประทานอาหารบนรถไฟญี่ปุ่นได้ ข้าวกล่องเหล่านี้เป็นเหมือนเพื่อนร่วมทางที่ดีที่สุดเลย มาร่วมสร้างความทรงจำอันแสนวิเศษไปกับเอกิเบ็นที่น่าตื่นตาตื่นใจจากทั่วประเทศญี่ปุ่นกันเถอะ!
(คำแนะนำจากคนวงใน: หากคุณกำลังวางแผนไปตามหาเอกิเบ็นในภาคตะวันออกของญี่ปุ่นล่ะก็ JR EAST PASS จะเป็นตัวช่วยที่ดีมากๆ!)
JR EAST PASS (Tohoku area)
JR EAST PASS (Tohoku area) แบบใหม่ และพื้นที่ที่สามารถใช้ได้ (เครดิตรูปภาพ: JR East)
JR EAST PASS (Tohoku area) เป็นบัตรโดยสารราคาประหยัดที่ให้คุณขึ้นรถไฟสาย JR East รวมถึงรถไฟชินกันเซ็นในพื้นที่ที่ครอบคลุมได้ไม่จำกัดเป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน ด้วยราคาเพียง 20,000 เยน ทำให้เป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับผู้มาเที่ยวในภูมิภาคนี้ โดยผู้ถือบัตรโดยสารยังสามารถจองที่นั่งออนไลน์ได้ฟรีล่วงหน้าถึง 1 เดือน
หมายเหตุ: ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2021 เป็นต้นไป ได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้งานและราคาของ JR EAST PASS (Tohoku area) โปรดตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่
JR EAST PASS (Nagano, Niigata area)
JR EAST PASS (Nagano, Niigata area) แบบใหม่ และพื้นที่ที่ใช้งานได้ (เครดิตรูปภาพ: JR East)
JR EAST PASS (Nagano, Niigata area) เป็นบัตรโดยสารราคาประหยัดที่ให้คุณขึ้นรถไฟสาย JR East รวมถึงรถไฟชินกันเซ็นภายในพื้นที่ได้ไม่จำกัดเป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน ด้วยราคาเพียง 18,000 เยน ทำให้เป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับผู้มาเที่ยวในภูมิภาคนี้ โดยผู้ถือบัตรโดยสารยังสามารถจองที่นั่งออนไลน์ได้ฟรีล่วงหน้าถึง 1 เดือน
หมายเหตุ: ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2021 เป็นต้นไป ได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้งานและราคาของ JR EAST PASS (Nagano, Niigata area) โปรดตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ที่นี่
เครดิตรูปภาพส่วนหัว: JR East/Carissa Loh
Translated by ANNGLE