คุณคือกลุ่มไหนในกลุ่มคนรักรถไฟทั้ง 10 กลุ่ม?
ถ้าคุณเคยไปที่ญี่ปุ่นมาก่อน คุณอาจจะเคยนั่งรถไฟของญี่ปุ่นกันมาบ้าง ซึ่งเครือข่ายทางรถไฟของญี่ปุ่นนั้นเป็นเครือข่ายที่กระจายอย่างกว้างขวางและถูกพัฒนามาเป็นอย่างดี และผู้อยู่อาศัยและนักท่องเที่ยวส่วนมากก็ได้ใช้บริการรถไฟเป็นประจำไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นคุณจะแทบไม่เจอคนที่ไม่ชอบรถไฟเลย นอกจากนี้ด้วยความที่รถไฟเข้ามาผูกอยู่กับชีวิตประจำวันโดยเฉพาะในเมืองแล้ว จึงไม่แปลกเลยที่เราจะเห็นบรรดาคนรักรถไฟ (鉄道ファン tetsudо̄ fan) ทุกรูปแบบในทุกกลุ่มของสังคม
แม้ว่าจะมีกลุ่มคนรักรถไฟนับหลายสิบกลุ่มที่มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง แต่ในบทความนี้พวกเราจะไปดูกลุ่มคนรักรถไฟ 10 แบบและเสน่ห์ของรถไฟที่น่าดึงดูดและน่าตื่นเต้นสำหรับพวกเขา และถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองตรงกับกลุ่มใดๆ ก็ตามในนี้ คุณอาจจะมีความชอบเหมือนกับกลุ่มโนริเท็ตสึ (nori-tetsu) หรือไม่ก็โทริเท็ตสึ (tori-tetsu) ซึ่งเป็นสองกลุ่มแรกในลิสต์นี้ โดยผลสำรวจของ trafficnews.jp ระบุว่าผู้ทำแบบสำรวจถึง 79.5% ระบุว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มโนริเท็ตสึ และรองลงมาก็คือโทริเท็ตสึที่มีจำนวนเกือบๆ ครึ่งหนึ่งหรือเทียบเป็น 41.2% เอาล่ะ คุณพร้อมจะไปท่องโลกของคนรักรถไฟกันหรือยัง? ถ้าพร้อมแล้วก็ขึ้นขบวนมาเลย!
1) โนริเท็ตสึ (乗り鉄)
คนรักการนั่งรถไฟ
เพลิดเพลินกับการชมทิวทัศน์ที่ผลัดเปลี่ยนไปนอกหน้าต่างรถไฟ (เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh)
โนริเท็ตสึเป็นหนึ่งในสองกลุ่มใหญ่ของคนรักรถไฟ โดยคำว่าโนริเท็ตสึมาจากคำว่าโนริ (乗り การขึ้นพาหนะ) และเท็ตสึที่เป็นคำย่อของคำว่าเท็ตสึโด (鉄道 ทางรถไฟ) ซึ่งก็ตรงตามชื่อเลย เพราะคนกลุ่มโนริเท็ตสึนี้เป็นกลุ่มคนที่รักการนั่งรถไฟ! ไม่ว่าจะเป็นความเพลิดเพลินที่พวกเขาได้จากการมองวิวทิวทัศน์ตามฤดูกาลผ่านไปมานอกหน้าต่างรถไฟ หรือการปล่อยตัวเองให้พักผ่อนกับเครื่องดื่มแก้วโปรดขณะเคลิ้มไปกับจังหวะการวิ่งนิ่มๆ ของรถไฟก็ตาม ความสนุกทั้งหมดล้วนอยู่ในการนั่งรถไฟ
ลูกเล่นและกิจกรรมสุดพิเศษบนขบวนรถที่ทำให้การนั่งรถไฟสนุกกว่าที่เคย (เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh)
รถไฟท่องเที่ยวหลายขบวนเช่น Joyful Trains และ D&S Trains เหล่านี้มีทั้งเส้นทางท้องถิ่นที่มีวิวทิวทัศน์สวยงาม มีกิจกรรมสนุกๆ บนขบวนรถและสถานีรถไฟ รวมถึงการตกแต่งภายในของขบวนรถไฟที่ไม่เหมือนใคร สำหรับกลุ่มโนริเท็ตสึแล้ว รถไฟไม่ได้เป็นเพียงยานพาหนะเท่านั้น แต่การเดินทางบนรถไฟก็เป็นการเที่ยวแบบหนึ่งไปในตัวด้วย โดยส่วนตัวแล้วไฮไลท์หลายอย่างในทริปเที่ยวของฉันก็คือการนั่งรถไฟด้วยเช่นกัน ซึ่งในแพลนทริปของฉันจะจัดให้รถไฟเป็นไฮไลท์เหมือนกับการเที่ยวคาเฟ่หรือปราสาทเลยล่ะ!
เครือข่ายทางรถไฟของ JR ทั้งหมดครอบคลุมระยะทางเกือบ 20,000 กม. (ในขณะที่ทางรถไฟนอกเครือ JR ครอบคลุมระยะทาง 7,000 กม.) และสำหรับคนกลุ่มโนริเท็ตสึสายฮาร์ดคอร์แล้ว เป้าหมายของพวกเขาก็คือการขึ้นรถไฟให้ครบทุกเส้นทางรถไฟ (完乗 kanjо̄) ซึ่งสำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว เป้าหมายนี้อาจะใช้เวลาเป็นปีหรือเป็นสิบปีว่าจะสำเร็จเพราะค่าโดยสารรถไฟที่แพง แต่ในฐานะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีตั๋ว JR Pass ช่วยปลดล็อคให้นั่งรถไฟสาย JR ได้อย่างไม่จำกัดรอบแล้วล่ะก็ ไม่แน่ว่าคุณอาจจะทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จได้เร็วกว่าคนญี่ปุ่น
2) โทริเท็ตสึ (撮り鉄)
คนรักการถ่ายรูปรถไฟ
ภาพถ่ายรถไฟและภาพถ่ายของผู้คนที่มาถ่ายภาพรถไฟกัน (เครดิตรูปภาพ: JR East / Shinoda)
โทริ (撮り) หมายถึง “การถ่ายรูป” และเทียบกับกลุ่มโนริเท็ตสึที่รักการนั่งรถไฟแล้ว โทริเท็ตสึจะเป็นกลุ่มที่รักการถ่ายรูปรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนไปยังทำเลพิเศษเพื่อถ่ายรูปรถไฟที่วิ่งผ่านไปมาโดยมีวิวพื้นหลังสวยๆ หรือการรอเพื่อแชะรูปรถไฟขบวนที่หายากก็ตาม อุปกรณ์ที่โทริเท็ตสึขาดไม่ได้เลยคือกล้องถ่ายรูปคู่ใจของพวกเขา
รูปถ่ายรถไฟต่างๆ ฝีมือกลุ่มโทริเท็ตสึ (เครดิตรูปภาพ: JR East / Shinoda)
คนกลุ่มโทริเท็ตสึที่ลงทุนลงแรงจริงจังจะวางแผนทริปตัวเองโดยการค้นคว้าว่าจะต้องไปที่ไหนถึงจะได้ฉากหรือรถไฟที่ตัวเองอยากเก็บภาพมาให้ได้ และคนกลุ่มโทริเท็ตสึที่จริงจังจะพกกล้อง DSLR ตัวใหญ่ไปด้วย ในขณะที่โทริเท็ตสึสายชิวอย่างฉันก็ไม่มีปัญหากับการใช้แค่กล้องโทรศัพท์มือถือ
แม้ว่าจะมีจุดชมวิวมากมายเช่นที่สะพานข้ามแม่น้ำทะดะมิหมายเลข 1 และที่สะพานมิยะโมริ ซึ่งต่างเป็นจุดที่สามารถนั่งรถสาธารณะไปถึงได้ง่ายๆ แต่ความที่เดินทางไปถึงได้ง่ายนี้ก็หมายความว่าที่เหล่านี้จะแอดอัดไปด้วยผู้คนเช่นกัน ดังนั้นโทริเท็ตสึที่เจนสนามมักจะไปจุดชมวิวที่ไกลออกไปอีกโดยอาจจะเป็นสถานที่ที่ต้องขับรถไปเท่านั้น และคนกลุ่มนี้สามารถใช้เวลาเป็นชั่วโมงอยู่ที่จุดนั้นแค่เพื่อถ่ายรูปที่สวยสมบูรณ์แบบให้ได้สักรูป มีคำกล่าวว่ารูปเดียวสื่อความหมายได้เป็นพันคำ และบางภาพที่โทริเท็ตสึถ่ายได้นั่นเป็นภาพที่สวยสะดุดตาจริงๆ!
3) จิโคคุเฮียวเท็ตสึ (時刻表鉄)
คนรักการดูตารางเดินรถไฟ
หนังสือตารางเดินรถไฟของ JR ที่นับว่าเป็นคัมภีร์ไบเบิลของกลุ่มจิโคคุเฮียวเท็ตสึ (เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh)
ในประเทศญี่ปุ่น ตารางเดินรถไฟ (時刻表 jikokuhyо̄) ขนาดใหญ่เท่าสมุดเลขโทรศัพท์จะถูกวางจำหน่ายอยู่ตามร้านหนังสือและสถานีรถไฟ และมักจะมีการอัพเดตในทุกๆ เดือน จิโคคุเฮียวเท็ตสึเป็นกลุ่มคนที่สนุกกับการอ่านหนังสือเหล่านี้และวางแผนทริปเที่ยวต่างๆ ด้วยความที่รถไฟของญี่ปุ่นวิ่งตรงต่อเวลาและวิ่งเข้าออกชานชาลาตรงตามกำหนดการนี้เอง จึงอาจจะเป็นจุดที่ทำให้งานอดิเรกนี้เป็นที่แพร่หลายในญี่ปุ่นมากกว่าในประเทศอื่นทั่วโลก
บรรดาเพื่อนคนญี่ปุ่นของฉันบอกฉันว่าตารางเดินรถไฟแบบหนังสือมีข้อมูลที่แม่นยำอย่างไม่ต้องสงสัยและใช้สนุกด้วย และหนึ่งในความสนุกที่ว่านี้คือการพลิกหน้ากระดาษกลับไปกลับมานั่นเอง สมัยอายุ 20 ต้นๆ ที่ฉันมีเวลาและงบเที่ยวที่จำกัดนั้น ฉันสามารถใช้เวลาเป็นวันๆ ในการวางแผนตารางเที่ยว (ทั้งแผนจริงและแผนเที่ยวที่คิดสมมติเล่นๆ) โดยอ้างอิงตามตารางเดินรถของทั้งรถไฟและรถบัส ด้วยความที่ฉันอาศัยอยู่นอกประเทศญี่ปุ่นโดยที่ไม่สามารถเข้าถึงหนังสือเหล่านี้ได้ ฉันจึงต้องพึ่งตารางเดินรถแบบออนไลน์และ Hyperdia เว็บไซต์ที่ฉันแน่ใจว่าเพื่อนๆ นักท่องเที่ยวหลายคนที่มาที่ญี่ปุ่นต้องเคยใช้เช่นกัน
ตารางเดินรถไฟที่สถานี Niigata (เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh)
ไม่ว่าจะเป็นตารางเดินรถไฟแบบหนังสือสุดคลาสสิกที่จับต้องได้หรือข้อมูลแบบดิจิตัล การวางแผนทริปจริงและวางแผนทริปจินตนาการเล่นๆ นั้นมีบางสิ่งที่น่าสนุกอยู่ในนั้นนะว่าไหม? ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาผังชานชาลารถไฟเมื่อต้องต่อรถแบบกระชั้นชิด หรือการเพิ่มจุดท่องเที่ยวและของอร่อยเข้าไปในแผนเที่ยวระหว่างรอต่อรถยาวๆ ความสนุกครึ่งหนึ่งของการท่องเที่ยวอยู่ในช่วงการวางแผนทริปนั่นเอง!
จิโคคุเฮียวเท็ตสึเป็นกลุ่มคนที่สนุกกับการวางแผนทริป โดยเฉพาะการพยายามเดินทางให้ได้ไกลที่สุดภายในระยะเวลาหนึ่งวันโดยอ้างอิงตามตารางการเดินรถไฟ ถ้านั่งรถไฟขบวนแรกที่ออกจากโตเกียว คุณคิดว่าในหนึ่งวันคุณจะเดินทางได้ไกลที่สุดเท่าไหร่กัน? แม้การเดินทางให้ได้ไกลที่สุดจะไม่ใช่เป้าหมายสำคัญสำหรับฉัน แต่ระยะทางที่ไกลที่สุดที่ฉันเคยเดินทางในหนึ่งวัน (ในแผนการเดินทางที่เต็มไปด้วยกิจกรรม) คือที่ระยะราวๆ 1,250 กม. จากสถานี Hiroshima (広島駅) ในภูมิภาคจูโกคุไปจนถึงสถานี Sendai (仙台駅) ในภูมิภาคโทโฮคุ ด้วยความที่ฉันใช้ JR Pass จึงสามารถนั่งชินกันเซ็นเพื่อลดเวลาในการเดินทางได้ แต่ชาวจิโคคุเฮียวเท็ตสึหลายคนนิยมวางแผนทริปโดยใช้รถไฟท้องถิ่นและรถด่วนเท่านั้น และจะไม่ใช้รถด่วนพิเศษหรือรถชินกันเซ็นเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าทึ่งมาก
ตารางเดินรถไฟสำหรับรถไฟขนสินค้า (เครดิตรูปภาพ: photoAC)
หนังสือตารางเดินรถไฟไม่ได้ถูกใช้แค่ในกลุ่มจิโคคุเฮียวเท็ตสึเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกลุ่มคนรักรถไฟกลุ่มอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มโทริเท็ตสึที่ใช้หนังสือนี้เพื่อหาว่ารถไฟขบวนที่พวกเขาสนใจจะวิ่งผ่านที่ไหนในเวลาใด นอกจากหนังสือตารางเดินรถไฟทั่วไปของรถไฟผู้โดยสารที่จะมีการอัพเดตในทุกเดือนแล้ว หนังสือตารางเดินรถไฟของรถไฟขนสินค้า (貨物時刻表 kamotsu jikokuhyо̄) ยังมีการตีพิมพ์เป็นรายปีในญี่ปุ่น ในขณะที่รถไฟขนสินค้าไม่ใช่รถไฟที่ขึ้นโดยสารได้ แต่กลุ่มโทริเท็ตสึกว่า 20,000 คนจะซื้อตารางเดินรถไฟของรถไฟขนสินค้าอยู่ทุกปีเพื่อใช้หาจุดที่ดีที่สุดในการถ่ายรูปรถไฟขนสินค้าเหล่านี้
4) เอกิเท็ตสึ (駅鉄)
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสถานีรถไฟ
ไร่องุ่นที่ชานชาลาสถานี Shiojiri และบ่อแช่เท้าที่สถานี Kami-Suwa (เครดิตรูปภาพ: JR East / Chie Matsubara and Carissa Loh)
ในขณะที่รถไฟเป็นสิ่งที่พาคุณเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกทีหนึ่ง สถานีรถไฟ (駅 eki) ก็เป็นทางผ่านไปยังจุดหมายปลายทางของคุณ คนกลุ่มเอกิเท็ตสึเป็นกลุ่มคนที่สนุกกับการเยี่ยมเยียนสถานีรถไฟหลากหลายแห่ง และไม่มีอะไรทำให้พวกเขาตื่นเต้นไปกว่าการได้ค้นพบและสนุกไปกับจุดเด่นที่ต่างกันออกไปตามแต่ละสถานี สถานีรถไฟในญี่ปุ่นไม่ได้เป็นเพียงจุดเดินทางเข้าออกเท่านั้น แต่ยังมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานพอๆ กับรถไฟ และบางสถานียังมีลูกเล่นที่เป็นจุดเด่นของตัวเอง เช่น สถานี Shiojiri (塩尻駅) ที่มีไร่องุ่นที่ใช้งานได้จริงอยู่บนชานชาลา!
คุณรู้ไหม? ว่ามีสถานีรถไฟบางแห่งที่มีออนเซ็นอยู่ภายในอาคารสถานีหรือแม้แต่บนชานชาลาด้วย เช่นที่ สถานี Kami-Suwa (上諏訪駅) ในจังหวัดนากาโนะ และถ้าพูดถึงสถานีรถไฟที่มีออนเซ็นแล้ว สถานี Hotto-Yuda (ほっとゆだ駅) ในจังหวัดอิวาเตะ เป็นสถานีรถไฟแห่งแรกของญี่ปุ่นที่มีออนเซ็นอยู่ในสถานี และตัวสถานีเองก็มีชื่อที่ค่อนข้างพิเศษด้วย “Hotto” เป็นการออกเสียงคำว่า “Hot” ในสำเนียงคนญี่ปุ่น และ “Yuda” เป็นชื่อของหมู่บ้านออนเซ็นใกล้สถานี
ถ้าพูดถืออีกสถานีหนึ่งที่มีชื่อที่น่าสนใจล่ะก็ ต้องพูดถึงสถานี Obasute (姨捨駅) ในจังหวัดนากาโนะเลย Oba (姨) หมายถึง “หญิงชรา” ในขณะที่ Sute มาจากคำกริยาในภาษาญี่ปุ่นว่า Suteru (捨てる) ที่มีความหมายว่า “การทอดทิ้ง” สำหรับตัวสถานี Obasute นั้นเป็นสถานีที่ตั้งอยู่บนที่สูง และมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่าในอดีตผู้คนเคยทอดทิ้งหญิงชราไว้เมื่อหญิงชราเหล่านั้นมีอายุมากและเริ่มกลายเป็นภาระ สถานีรถไฟแห่งนี้มีวิวตระการตาของที่ราบเซนโคจิที่อยู่เบื้องล่าง
สถานี Shimonada และสถานี О̄migawa สองสถานีที่มีวิวทะเลชั้นเยี่ยม (เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh)
ไม่ว่าจะเป็นการชื่นชมสถาปัตกรรมภายนอกของสถานีรถไฟหรือวิวที่อยู่รอบๆ หรือการสนุกกับลูกเล่นพิเศษที่มีเฉพาะสถานีนั้นๆ หรือการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาและการตั้งชื่อของสถานีบางแห่งก็ตาม สถานีรถไฟนับเป็นหนึ่งในไฮไลท์ในการเที่ยวของกลุ่มเอกิเท็ตสึ แม้ว่าเราจะมีสถานีสไตล์ย้อนยุคเช่นสถานี Tо̄kyо̄ (東京駅) ที่มีการตกแต่งภายนอกสวยงามอลังการและมีความเป็นมาอันยาวนาน แต่เอกิเท็ตสึบางคนบางคนชอบไปเยี่ยมเยียนสถานีรถไฟริมทะเลที่เงียบสงบมากกว่า เช่นสถานี Shimonada (下灘駅) และสถานี О̄migawa (青海川駅) ที่มีวิวริมทะเลและวิวพระอาทิตย์ตกดินที่สวยจนไม่มีที่ไหนเทียบได้
สถานี Nobeyama สถานี JR ที่ตั้งอยู่สูงที่สุด และสถานี Nishi-О̄yama สถานี JR ที่ตั้งอยู่ในทิศใต้ที่สุด (เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh)
ชาวเอกิเท็ตสึคนอื่นตั้งเป้าที่จะไปเยี่ยม สถานีรถไฟที่เป็น "เจ้าของสถิติ" เช่นบรรดาที่สุดของสถานีรถไฟ JR สุดคลาสสิกเหล่านี้:
- สถานีที่ตั้งอยู่ทิศเหนือที่สุด—สถานี Wakkanai (稚内駅) ในฮอกไกโด
- สถานีที่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกที่สุด—สถานี Higashi-Nemuro Station (東根室駅) ในฮอกไกโด
- สถานีที่ตั้งอยู่ทิศใต้ที่สุด—สถานี Nishi-О̄yama (西大山駅) ในคาโกชิมะ
- สถานีที่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกที่สุด—สถานี Sasebo (佐世保駅) ในนางาซากิ
- สถานีที่ตั้งอยู่ในระดับสูงที่สุด—สถานี Nobeyama (野辺山駅) ในนากาโนะ
- สถานีที่ตั้งอยู่ลึกใต้ดินที่สุด—สถานี Doai (土合駅) ในกุนมะ
5) ฉะเรียวเท็ตสึ (車両鉄)
ผู้เชี่ยวชาญด้านขบวนรถไฟ
ขบวนรถไฟประเภทต่างๆ (เครดิตรูปภาพ: JR East / Shinoda)
ญี่ปุ่นอาจจะขึ้นชื่อเรื่องรถหัวกระสุนชินกันเซ็นที่ทั้งเร็วเหนือชั้นและมีความไฮเทค แต่นอกจากนึ้ญี่ปุ่นก็ยังมีรถไฟท้องถิ่นที่แม้จะวิ่งช้ากว่าแต่ก็ยังตรงต่อเวลาอย่างไม่มีที่ติ รวมถึงรถไฟท่องเที่ยวธีมพิเศษอย่าง Joyful Train ด้วย ขบวนรถไฟในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ฉะเรียว (車両 sharyо̄) และกลุ่มฉะเรียวเท็ตสึเป็นกลุ่มแฟนคลับดีไซน์รถไฟทั้งหลายนี้เอง พวกเขามีความรู้ที่แน่นเปรี๊ยะเรื่องขบวนรถไฟประเภทต่างๆ เช่นขบวนรถไฟโมเดลไหนถูกใช้บนทางรถไฟสายใด ขบวนรถไฟนั้นๆ ให้บริการในช่วงเวลาใด ประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของขบวนรถ ฯลฯ
ด้วยความรู้มากมายเกี่ยวกับขบวนรถไฟนี้ ทำให้ฉะเรียวเท็ตสึยังอยู่ในกลุ่มโนริเท็ตสึหรือโทริเท็ตสึไปด้วยในตัว โดยพวกเขาจะนั่งหรือไปถ่ายรูปรถไฟตามความสนใจในขบวนรถของตนเอง
ชินกันเซ็น Doctor Yellow, ขบวนรถไฟ Train Suite Shiki-shima สุดหรู, และชินกันเซ็นสองชั้น E4 ซีรี่ย์ (เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh)
พอได้เห็นขบวนรถไฟหายากอย่างรถไฟนำเที่ยว Train Suite Shiki-shima (TRAIN SUITE 四季島) ที่ใช้รถไฟ E001 ซีรี่ย์, หรือรถไฟชินกันเซ็นสองชั้น E4 ซีรี่ย์ที่กำลังจะปลดประจำการ, หรือ Doctor Yellow ชินกันเซ็นสีเหลืองหายากที่ใช้ในการทดลองและซ่อมบำรุงแล้วล่ะก็ หลายคนคงเก็บความรู้สึกตื่นเต้นไว้ได้ยากทีเดียว ฉันเองก็รู้สึกทึ่งเช่นกันเมื่อได้เห็นรถไฟ Kiha 40/48 ซีรี่ย์อดีตรถไฟของทางรถไฟสาย Tadami Line ในเครือ JR East วิ่งอยู่ในทางรถไฟวงแหวนย่างกุ้งในประเทศพม่า
ฉันยอมรับเลยว่าฉันรู้สึกตื่นเต้นมากๆ เมื่อได้นั่งรถไฟขบวนพิเศษต่างๆ และได้ลองลูกเล่นพิเศษของแต่ละขบวน เช่นการแช่เท้าในออนเซ็นเท้าของ Toreiyu Tsubasa หรือการได้เห็นลวดลายน่ารักๆ บน POKÉMON with YOU Train หรือการชิมสาเก (酒 สุราหมักจากข้าว) บน Koshino Shu*Kura รถไฟ Joyful Train หลายขบวนต่างเป็นรถไฟที่ใช้รถไฟโมเดลก่อนๆ มาปรับปรุงใหม่ เช่น Toreiyu Tsubasa ที่ใช้ชินกันเซ็นเก่ารุ่น E3 ซีรี่ย์ หรือรถไฟ HIGH RAIL 1375 ที่ใช้ขบวนรถ Kiha 100/110 ซีรี่ย์ ฯลฯ และฉันคิดว่าการที่รถไฟเหล่านี้สามารถถูกนำมาเปลี่ยนโฉมใหม่ได้อย่างหลากหลายแบบนี้เป็นอะไรที่น่าทึ่งมาก
6) โอโตะเท็ตสึ (音鉄)
ผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงรถไฟ
รถไฟ SL Banetsu Monogatari ที่กำลังส่งเสียงหวูดก่อนจะออกตัว (เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh)
กลุ่มโอโตะเท็ตสึที่มีความเฉพาะทางหน่อยนี้เป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการฟังเสียง (音 oto) ต่างๆ ของรถไฟ หรือแม้กระทั่งเสียงดนตรีและเสียงประกาศที่เล่นตลอดการเดินทางบนรถไฟ โดยคนกลุ่มนี้มักเดินทางเพื่ออัดเสียงต่างๆ เหล่านี้ ตั้งแต่เสียงของรถไฟที่แล่นเขามาในสถานีรถไฟ ไปจนถึงเสียงของรถไฟที่วิ่งฉึกฉักไปตามราง และโอโตะเท็ตสึที่ช่ำชองสามารถระบุโมเดลของรถไฟได้แค่จากการฟังคลิปเสียงสั้นๆ เท่านั้น!
ในขณะที่บางคนหลีกเลี่ยงที่จะอาศัยอยู่ในบ้านใกล้ทางรถไฟเนื่องจากมลภาวะทางเสียง แต่โอโตะเท็ตสึบางคนจะตั้งใจเลือกที่อยู่ที่ใกล้กับทางรถไฟเพื่อให้ตัวเองได้เข้าใกล้เสียงเหล่านี้มากขึ้น
แม้ว่าตัวฉันเองจะไม่ใช่โอโตะเท็ตสึแต่ฉันยอมรับว่าเสียงหวูดทุ้มลึกของรถจักรไอน้ำนั้นเป็นเสียงที่น่าประทับใจ และยังมีเสียงอื่นๆ เช่นเสียงดนตรีที่เปิดก่อนที่ประตูจะปิดหรือก่อนที่รถไฟจะวิ่งถึงสถานี ซึ่งต่างเป็นเสียงที่ฉันชอบฟังเวลาที่นั่งรถไฟ บางสถานีเช่นสถานี Matsumoto (松本駅) เป็นสถานีที่มีวิธีประกาศชื่อสถานีที่เฉพาะตัวมากๆ แทนที่จะพูดว่า “Matsumoto” ปกติ ที่นี่จะพูดว่า “Matsumoto~o” ที่เป็นการลากเสียง “o” ยาวๆ เป็นทำนองเพลง
7) เอกิเบ็นเท็ตสึ (駅弁鉄)
คนรักการชิมและสะสมเอกิเบ็น
เอกิเบ็น ไฮไลท์ของทริปสำหรับเอกิเบ็นเท็ตสึ (เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh)
ที่สิงคโปร์ ถ้าคุณรับประทานอาหารบนรถไฟคุณจะต้องเจอกับค่าปรับที่แพง แต่ที่ญี่ปุ่นนั้นการรับประทานอาหารบนรถไฟเป็นเรื่องปกติทั่วไป และผู้โดยสารหลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามันคือหนึ่งในความสุขของการเดินทางด้วยรถไฟ โดย เอกิเบ็น (駅弁) ที่มีเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นนั้นเป็นข้าวกล่องที่วางจำหน่ายตามสถานีรถไฟหรือบนขบวนรถไฟเพื่อให้ผู้โดยสารได้รับประทานระหว่างการนั่งรถไฟยาวๆ และด้วยหน้าตาและรสชาติที่หลากหลาย เอกิเบ็นส่วนมากเป็นเอกิเบ็นที่มีเฉพาะภูมิภาคหรือสถานีบางแห่งเท่านั้นโดยจะมีจุดเด่นที่วัตถุดิบท้องถิ่นและกล่องที่ออกแบบมาให้สื่อถึงท้องถิ่นนั้นๆ
เอกิเบ็นเท็ตสึเป็นกลุ่มคนรักรถไฟที่เดินทางทั่วประเทศญี่ปุ่นเพื่อตามชิมข้าวกล่องของอร่อยท้องถิ่นเหล่านี้ และมักจะเก็บสะสมคอลเลกชันห่อกระดาษ (包装紙 hо̄sо̄shi) เป็นของที่ระลึกจากการเดินทางของพวกเขา คำขวัญประจำใจของเอกิเบ็นเท็ตสึตัวจริงน่ะเหรอ? “กินให้เรียบ”
8) โอชิเท็ตสึ (押し鉄)
นักสะสมแสตมป์
แสตมป์จากสถานีและรถไฟต่างๆ (เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh)
เมื่ออยู่ในญี่ปุ่น คุณอาจจะสังเกตได้ว่าสถานีรถไฟบางแห่งมีโต๊ะตั้งอยู่ในมุมหนึ่งโดยบนโต๊ะจะมีแสตมป์ตรายาง แท่นหมึก และกระดาษแผ่นเล็กๆ เตรียมไว้ สิ่งที่เรียกว่า แสตมป์สถานี (駅スタンプ) เหล่านี้เป็นแสตมป์ที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่สื่อถึงพื้นที่รอบๆ สถานีนั้นๆ และเป็นสิ่งที่ผู้โดยสารหลายคนนิยมสะสมในฐานะของที่ระลึกจากการเดินทางโดยรถไฟมาเป็นเวลานาน และแสตมป์เหล่านี้ยังไม่ได้มีแค่ที่สถานีเท่านั้น แต่รถไฟท่องเที่ยวบางขบวนยังมีแสตมป์ของตัวเองโดยเฉพาะอยู่ด้วย
ในขณะที่นักสะสมมือสมัครเล่นอย่างฉันจะเก็บสะสมแสตมป์แค่เวลาที่บังเอิญเจอเท่านั้น แต่โอชิเท็ตสึตัวจริงจะออกตามหาแสตมป์เหล่านี้ในทุกสถานีที่พวกเขาเคยไปและมักจะมีคอลเลกชั่นชุดใหญ่เป็นของตัวเอง โอชิ (Oshi) มาจากคำกริยาในภาษาญี่ปุ่นว่าโอสุ (押す Osu การกด) ซึ่งสื่อกริยาการกดเมื่อประทับตรายางของแสตมป์นั่นเอง
แสตมป์แรลลี่ของ Joyful Train (เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh)
แสตมป์เหล่านี้ได้รับความนิยมมากกว่าที่คุณคิด อันที่จริงแล้วแสตมป์แรลลี่มักถูกจัดในฐานะกิจกรรมโปรโมทการท่องเที่ยว โดยคุณสามารถรับของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ได้จากการสะสมแสตมป์จำนวนหนึ่งจากสถานที่ที่กำหนดในช่วงระยะเวลาแคมเปญ และนานๆ ที่จะมีบางแสตมป์แรลลี่ที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสามารถเข้าร่วมได้ แต่กิจกรรมแบบนี้จะมีของรางวัลที่อาจจะพิเศษน้อยลงมาหน่อย
กิจกรรมแสตมป์แรลลี่หนึ่งที่ฉันได้เข้าร่วมนั้นเป็นกิจกรรมสำหรับ Joyful Train โดยเป็นแคมเปญเพื่อโปรโมทการนั่ง Joyful Train และแสตมป์ที่ต้องเก็บต่างเป็นแสตมป์ที่อยู่บนขบวนรถไฟ โดยแสตมป์หนึ่งดวงสามารถนำไปใช้แลกแฟ้ม A4 ได้ที่ NewDays ร้านสะดวกซื้อที่ตั้งอยู่ตามสถานีรถไฟของ JR East ซึ่งฉันเองก็ได้ไปแลกแฟ้มมาแล้ว ของรางวัลสำหรับแสตมป์สองดวงขึ้นไปคือการจับฉลากของรางวัล ซึ่งฉันไม่สามารถเข้าร่วมได้เพราะต้องมีที่อยู่สำหรับจัดส่งภายในพื้นที่ท้องถิ่นเท่านั้น และของรางวัลสำหรับคนที่สะสมแสตมป์ได้หกดวงขึ้นไปคือโอกาสพิเศษที่จะได้เข้าไปเยี่ยมโกดังรถไฟ ดังนั้นคงเข้าใจได้ไม่ยากเลยว่าทำไมแคมเปญแสตมป์แรลลี่แบบนี้ถึงเป็นกิจกรรมยอดฮิตในกลุ่มคนรักรถไฟ
เท็ตสึอินโจ และแสตมป์เท็ตสึอินจากทางรถไฟ Echigo TOKImeki (เครดิตรูปภาพ: kimuchi583 / CC BY-NC-ND 2.0)
ถ้าขยับขึ้นไปที่อีกระดับหนึ่งก็จะมี เท็ตสึอินโจ (鉄印帳 tetsuinchо̄) เป็นแคมเปญที่เปิดตัวในเดือนกรกฎาคม 2020 โดยมีสมุดเท็ตสึอินโจที่คล้ายกับสมุดโกะชุอินโจ (御朱印帳 goshuinchо̄) ซึ่งเป็นสมุดขนาดใหญ่ที่ให้คุณสะสมแสตมป์ที่เขียนโดยพระสงฆ์ตามวัดและศาลเจ้าต่างๆ ในญี่ปุ่นได้ สำหรับสมุดเท็ตสึอินโจนี้คุณสามารถใช้มันสะสมเท็ตสึอิน (鉄印 tetsuin) สุดพิเศษจาก 40 หน่วยงานรถไฟภาคส่วนที่สามจากทั่วประเทศญี่ปุ่น จุดที่ต่างจากแสตมป์สถานีท่วไปคือเท็ตสึอินจะมีขนาดใหญ่กว่า มีลวดลายที่ละเอียดประณีตกว่า และมีราคาเริ่มต้นดวงละ 300 เยน และมีเพียงผู้ถือเท็ตสึอินโจเท่านั้นที่จะรับเท็ตสึอินได้ แน่นอนว่าแคมเปญนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและเท็ตสึอินโจทั้งหมด 5,000 เล่มก็ขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว และ ณ ตอนนี้ (19 กุมภาพันธ์) มีคนเกือบ 150 คนแล้วที่สะสมสแตมป์เท็ตสึอินจากทั่วไปประเทศญี่ปุ่นไว้ในเท็ตสึอินโจของตัวเองได้ครบเป็นที่เรียบร้อย!
9) โมะเคเท็ตสึ (模型鉄)
นักสะสมและประกอบโมเดลรถไฟ
โมเดลรถไฟขนาดจิ๋ว (เครดิตรูปภาพ: JR East / Kano)
การสะสมโมเดล (模型 mokei) ของรถไฟและทางรถไฟเป็นงานอดิเรกยอดนิยมทั้งในญี่ปุ่นและในประเทศอื่นทั่วโลก ตั้งแต่ชุดโมเดลรถไฟขนาดจิ๋ว ไปจนถึงการสร้างฉากสามมิติเพื่อให้โมเดลรถไฟวิ่ง ทั้งหมดนี้คือกลุ่มโมะเคเท็ตสึที่เป็นคนรักโมเดลรถไฟ ในขณะที่โมะเคเท็ตสึบางคนสะสมโมเดลรถไฟขนาดจิ๋วไว้ตั้งโชว์เฉยๆ เหมือนเวลาสะสมฟิกเกอร์ แต่บางคนก็ลงทุนสร้างฉากสามมิติที่มีทั้งรายละเอียดและใช้งานได้จริง โดยมีครบทั้งชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหว ต้นไม้ ผู้คน และอาคารต่างๆ
การสร้างโมเดลให้ความรู้สึกพึงพอใจเหมือนกับที่คุณรู้สึกประสบความสำเร็จเมื่อสร้างโลกเลโก้หรือการต่อจิ๊กซอว์ได้เสร็จสมบูรณ์ สำหรับโมะเคเท็ตสึ แล้ว พวกเขาปล่อยให้โมเดลเหล่านี้พาพวกเขาโลดแล่นไปในการเดินทางแห่งจินตาการ ซึ่งความสนุกอยู่ในการประกอบและสร้างโลกแห่งทางรถไฟของตัวคุณเอง!
10) ชูชูเท็ตสึ (収集鉄)
นักสะสมสินค้าและของที่ระลึกเกี่ยวกับรถไฟ
ตั๋วรถไฟและสินค้ากับของที่ระลึกเกี่ยวกับรถไฟ (เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh)
ปิดท้ายลิสต์กันด้วยนักสะสมมือฉมัง กลุ่มชูชูเท็ตสึ (shūshū (収集) ที่มีเป้าหมายคือ “การสะสม” ในขณะที่บางคนถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกของทริป กลุ่มชูชูเท็ตสึจะสะสมของที่ระลึกทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับรถไฟ ซึ่งชูชูเท็ตสึส่วนมากจะสะสมตั๋วรถไฟและอาจจะถึงขั้นเก็บไว้เป็นอัลบั้ม โดยเฉพาะตั๋วจากรถไฟที่วิ่งในรอบที่จำกัดหรือในงานฉลองครบรอบต่างๆ ส่วนชูชูเท็ตสึตัวยงจะสะสมชิ้นส่วนรถไฟเช่นป้าย และยังมีงานประมูลชิ้นส่วนรถไฟที่ไม่ใช้แล้วซึ่งจัดโดยบริษัทรถไฟเพื่อกลุ่มคนชูชูเท็ตสึโดยเฉพาะ!
แม้ว่าฉันจะไม่ใช่ชูชูเท็ตสึ (ฉันเป็นแค่คนชอบสะสมของเท่านั้น) แต่ฉันเก็บตั๋ว JR แบบจองที่นั่งส่วนมากของฉันไว้มาตั้งแต่ปี 2014 โดยมีทั้งหมดเกือบๆ 400 ใบแล้ว และถ้าเป็นไปได้ฉันก็ชอบเก็บแฟ้ม A4 ของรถไฟขบวนพิเศษไว้ด้วย และฉันมักจะตื่นเต้นมากเมื่อรถไฟขบวนพิเศษเหล่านี้มีมาสกิ้งเทปเป็นของตัวเองด้วย
การเดินทาง
สำหรับฉันแล้ว รถไฟคือวิธีเดินทางรอบญี่ปุ่นที่สนุกที่สุดและประหยัดที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย บริษัทรถไฟส่วนมากจะมีตั๋วรถไฟแบบลดราคาสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนั้นคุณสามารถใช้มันได้เวลาเดินทางรอบๆ ประเทศญี่ปุ่น และสำหรับในภูมิภาคตะวันออกของญี่ปุ่น ขอแนะนำ JR EAST PASS:
JR EAST PASS (Nagano, Niigata area)
JR EAST PASS (Nagano, Niigata area) แบบใหม่ และพื้นที่ที่ใช้งานได้ (เครดิตรูปภาพ: JR East)
ถ้าคุณตั้งต้นทริปจากโตเกียวและจะเดินทางมาจังหวัดนากาโนะและนีงาตะ ขอแนะนำ JR EAST PASS (Nagano, Niigata area) ตั๋ว Pass ราคาประหยัดที่ให้คุณสามารถขึ้นรถไฟได้อย่างไม่จำกัดบนทางรถไฟในเครือ JR East (รวมถึงชินกันเซ็น) ภายในพื้นที่ที่กำหนดได้ตลอดระยะเวลา 5 วันติดกัน ด้วยราคาเพียง 18,000 เยน ตั๋วนี้มีราคาถูกกว่าค่าเดินทางไปกลับระหว่างโตเกียวและนีงาตะ (~21,000 เยน) นอกจากนี้คุณยังสามารถจองที่นั่งบนชินกันเซ็น รถด่วนพิเศษบางขบวน รวมถึง Joyful Train ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ฟรีล่วงหน้าถึง 1 เดือนได้ที่นี่ ตั๋ว JR EAST PASS (Nagano, Niigata area) สามารถใช้แตะผ่านประตูอัตโนมัติได้ และผู้ถือพาสปอร์ตต่างประเทศที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่นก็สามารถใช้ตั๋ว Pass นี้ได้เช่นกัน
หมายเหตุ: ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2021 เป็นต้นไป ได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้งานและราคาของ JR EAST PASS (Nagano, Niigata area) ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่
JR EAST PASS (Tohoku area)
JR EAST PASS (Tohoku area) แบบใหม่ และพื้นที่ที่ใช้งานได้ (เครดิตรูปภาพ: JR East)
ถ้าคุณมีแพลนจะเดินทางไปภูมิภาคโทโฮคุ ขอแนะนำ JR EAST PASS (Tohoku area) ตั๋ว Pass ราคาประหยัดที่ให้คุณสามารถขึ้นรถไฟได้อย่างไม่จำกัดบนทางรถไฟในเครือ JR East (รวมถึงชินกันเซ็น) ภายในพื้นที่ที่กำหนดได้ตลอดระยะเวลา 5 วันติดกัน ด้วยราคาเพียง 20,000 เยน ตั๋วนี้มีราคาถูกกว่าค่าเดินทางไปกลับระหว่างโตเกียวและอาโอโมริ (~35,000 เยน) นอกจากนี้คุณยังสามารถจองที่นั่งบนชินกันเซ็น รถด่วนพิเศษบางขบวน รวมถึง Joyful Train ผ่านช่องทางออนไลน์ได้ฟรีล่วงหน้าถึง 1 เดือนได้ที่นี่ ตั๋ว JR EAST PASS (Tohoku area) สามารถใช้แตะผ่านประตูอัตโนมัติได้ และผู้ถือพาสปอร์ตต่างประเทศที่พำนักอยู่ในญี่ปุ่นก็สามารถใช้ตั๋ว Pass นี้ได้เช่นกัน
หมายเหตุ: ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2021 เป็นต้นไป ได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้งานและราคาของ JR EAST PASS (Tohoku area) ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่
เครดิตรูปภาพส่วนหัวบทความ: JR East / Shinoda
Translated by ANNGLE