ท่องแดนหิมะไปกับทางรถไฟท้องถิ่นโทโฮคุในฤดูหนาว
เวลานั่งรถไฟเที่ยวในทริปวันหยุด คุณจะใช้เวลาบนรถกันอย่างไรกันบ้าง? บางคนอาจจะถ่ายรูปบรรดารถไฟที่คุณเจอไว้หลายรูป โดยเฉพาะรถไฟพิเศษเช่นรถจักรไอน้ำหรือบรรดารถไฟ Joyful Train ซึ่งผมจะบอกว่าคุณไม่ใช่คนเดียวเท่านั้น แต่ยังมีคนรักรถไฟในญี่ปุ่นอีกมากมายที่ถ่ายรูปรถไฟเป็นงานอดิเรก ซึ่งคนกลุ่มนี้ถูกเรียกว่าโทริเท็ตสึ (撮り鉄) และแน่นอนว่าคุณจะเห็นพวกเขาได้ทุกครั้งที่มีรถไฟขบวนพิเศษวิ่งผ่านทางรถไฟสายเฉพาะ!
พวกเขาไม่ใช่แฟนๆ ผู้รักรถไฟเพียงกลุ่มเดียว ยังมีอีกหลายคนอย่างผมเป็นต้น ที่ชอบการชมวิวนอกหน้าต่างจากบนรถไฟระหว่างอร่อยไปกับเอกิเบ็น (駅弁 ข้าวกล่องสำหรับรับประทานบนรถไฟ) คำภาษาญี่ปุ่นสำหรับคนรักรถไฟแบบนี้ก็คือโนริเท็ตสึ (乗り鉄) ซึ่งเป็นกลุ่มคนรักรถไฟที่ชอบนั่งรถไฟตรงตามความหมายของคันจิ (โนริหมายถึงการนั่งยานพาหนะ และเท็ตสึเป็นคำย่อของคำว่าเท็ตสึโดที่หมายถึงทางรถไฟ)
ด้วยทางรถไฟท้องถิ่นมากมายในญี่ปุ่นที่มีทั้งของ JR และไม่ใช่ของ JR แบบนี้ จึงมีรถไฟให้นั่งและวิวให้มองเยอะไม่หวาดไม่ไหวแน่นอน! แม้ญี่ปุ่นจะสวยงามในทุกฤดู แต่ผมชอบการนั่งรถไฟยาวๆ ในฤดูหนาวเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หิมะจะเปลี่ยนวิวรอบข้างให้ดูราวกับภาพวาดหมึกสีขาวดำ และนี่คือบางส่วนของทางรถไฟท้องถิ่นในภูมิภาคโทโฮคุ (東北地方 Tōhoku-chihō) ที่ผมชอบเดินทางและถูกบริหารโดย JR East!
ทางรถไฟสาย Kitakami (北上線)
รถไฟขาเข้าของทางรถไฟสาย Kitakami ที่รอเวลาออกรถ ณ สถานี Hotto-Yuda (เครดิตภาพ: Kevin Koh)
ทางรถไฟสาย Kitakami (北上線 Kitakami-sen) เชื่อมสถานี Kitakami (北上駅 Kitakami-eki) ในเมืองคิตาคามิ (Kitakami City) ของจังหวัดอิวาเตะกับสถานี Yokote (横手駅 Yokote-eki) ในเมืองโยโกเตะ (Yokote City) ของจังหวัดอาคิตะ ด้วยระยะทาง 61 กม. เท่านั้น ทางรถไฟสายนี้จึงไม่ได้เป็นทางรถไฟที่ยาวแต่อย่างใดเลย ยิ่งเมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่ภูมิภาคโทโฮคุและทางรถไฟสายอื่นที่วิ่งผ่านในพื้นที่แล้วด้วย ตั้งแต่ที่ทางรถไฟสายนี้สร้างเสร็จในปี 1924 ทางรถไฟสาย Kitakami ได้ทำหน้าที่สำคัญมากมาย โดยเฉพาะในช่วงก่อนการสร้าง Tohoku Shinkansen และ Akita Shinkansen ขึ้นมา
เทียบกับวันวานที่ยิ่งใหญ่ในอดีตแล้ว ทางรถไฟสาย Kitakami นั้นเงียบขึ้นมากในทุกวันนี้ และปัจจุบันแทบจะให้บริการเฉพาะนักเรียนที่ไปโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ตามทางรถไฟ รวมถึงคนท้องถิ่นที่ไม่ได้ขับรถและพึ่งพาขนส่งมวลชนในการเดินทางไปไหนต่อไหน ตารางรถไฟของทางรถไฟสายนี้เองก็สะท้อนวิถีชีวิตนี้เช่นกัน แม้จะมีรถด่วนอยู่บางขบวนที่จอดเฉพาะที่สถานีใหญ่ๆ เท่านั้น แต่บริการรถไฟท้องถิ่นส่วนใหญ่จะจอดที่ทุกสถานี ดังนั้น รถไฟจึงจะถูกกำหนดเวลาบริการให้วิ่งตามช่วงเวลาต่างๆ ที่จะมีผู้ใช้บริการมากที่สุดของแต่ละวัน เช่นในช่วงก่อนและหลังเวลาเข้าเรียนและเลิกงาน และเพราะงี้เอง จึงมีรถไฟน้อยในช่วงระหว่างทั้งสองเวลานี้ของวัน
อันที่จริงแล้ว ในระหว่างวันจะมีรถไฟที่ออกจากเมืองคิตาคามิระหว่าง 8.00 น. และ 17.00 น. เพียงสามขบวนเท่านั้น! ในขณะที่รถที่วิ่งจากสถานี Kitakami มีจำนวนมากกว่า (รวม 10 ขบวนต่อวัน) แต่รถไฟที่วิ่งจากฝั่งอาคิตะมีเพียงหกขบวนต่อวันเท่านั้น โดยรถไฟแต่ละขบวนจะวิ่งห่างกัน 3 ชั่วโมง ยกเว้นสองขบวนที่วิ่งในช่วงระหว่าง 6.00 น. และ 8.00 น. ซึ่งนี่ทำให้ผู้จะเดินทางด้วยทางรถไฟสาย Kitakami ต้องวางแผนเดินทางอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ ถึงอย่างนั้นผมกล้าบอกเลยว่าวิวและประสบการณ์ที่จะได้จากการเดินทางนั้นคุ้มค่าแน่นอน
รถไฟขาออกขบวนแรกของทางรถไฟสาย Kitakami ที่รอออกรถ ณ ชานชลา 0 ของสถานี Kitakami (เครดิต: Kevin Koh)
อย่างแรกที่ทำให้ผมสนใจทางรถไฟสาย Kitakami ก็คือการที่รถไฟของทางรถไฟสาย Kitakami ออกวิ่งจากชานชลา 0 แม้ผมจะใช้ชีวิตและนั่งรถไฟในญี่ปุ่นมาแล้วเป็นปี แต่นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่ผมเจอรถไฟที่ออกวิ่งจากชานชลา 0 โดยปัจจุบันมีสถานีรถไฟราว 35 สถานีที่ใช้งานชานชลา 0 อยู่
ครั้งแรกที่ผมเห็นการระบุชานชลาด้วยเลข 0 ผมก็มีคำถามในใจ ทำไมถึงเป็นเลข 0? ชานชลานี้จะอยู่ตรงไหนของสถานี ในเมื่อสถานีส่วนมากจะเริ่มที่ชานชลา 1? ชานชลานี้จะหน้าตาเป็นอย่างไร? ผมได้คำตอบเมื่อผมมาถึงที่ชานชลาในเช้าวันที่ผมจะเดินทางบนทางรถไฟสาย Kitakami ชานชลา 0 เป็นชานชลาที่หลบอยู่ตรงริมสถานีและมีแป้นปะทะ (Buffer Stop) ที่สุดสาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสถานีปลายทางทั้งหมด สิ่งที่น่าสนใจก็คือตัวชานชลาจะสั้นกว่าที่อื่นๆ ของทางรถไฟสายหลัก Tohoku (Tōhoku Main Line) อย่างเห็นได้ชัด อาจจะเพราะรถไฟที่วิ่งตามทางรถไฟสาย Kitakami ไม่ได้บรรทุกผู้โดยสารมากขนาดนั้น จึงมีจำนวนตู้รถที่น้อยกว่า
วิวฤดูหนาวที่คินชูโกะ
วิวทะเลสาบคินชูโกะในฤดูหนาว (เครดิตภาพ: 西和賀町 / 橋本翔也様)
แม้ทางรถไฟจะวิ่งใกล้หรือวิ่งไปตามแม่น้ำวากะ (和賀川 Waga-gawa) อยู่พอสมควร แต่บรรดาวิวที่ยิ่งใหญ่ที่คุณจะเห็นได้นั้นอยู่ที่บริเวณสถานี Wakasennin (和賀仙人駅 Wakasennin-eki) เป็นต้นไป ถือเป็นระยะทางหนึ่งในสามของทางรถไฟ หลังการก่อสร้างเขื่อนยูดะ (Yuda Dam) เสร็จสมบูรณ์ในปี 1964 ทะเลสาบที่เป็นผลพลอยได้นั้นถูกตั้งชื่อว่าคินชูโกะ (錦秋湖, Kinshūko) และเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวหลักของเขตวากะในจังหวัดอิวาเตะที่ทางรถไฟสาย Kitakami วิ่งผ่านจนถึงทุกวันนี้ รถไฟจะวิ่งบนรางยกระดับไปตามริมฝั่งและข้ามทะเลสาบคินชูโกะ และภาพของขบวนรถไฟที่ตัดกับผืนน้ำสีฟ้าของทะเลสาบโดยมีภูเขาเป็นฉากหลัง วิวสวยแบบนี้จะให้พลาดไปได้อย่างไร!
รถไฟของทางรถไฟสาย Kitakami กำลังวิ่งอยู่บนสะพานสีแดงข้ามทะเลสาบคินชูโกะที่ปกคลุมด้วยหิมะ (เครดิตภาพ: 西和賀町 / 橋本翔也様)
ครั้งแรกที่ผมนั่งทางรถไฟสายนี้ ผมตะลึงงันไปกับความงามของวิวที่เห็น สีแดงของสะพานทางรถไฟทอดข้ามแม่น้ำวากะโดดเด่นยิ่งกว่าเคยท่ามกลางหิมะที่ปกคลุมยอดเขาและคลุมผิวน้ำทะเลสาบคินชูโกะที่จับเป็นน้ำแข็ง ดูแล้วไม่ต่างกับภาพวาดพู่กันขาวดำที่สายตาของคนดูจะจับจ้องไปที่สีแดงเด่นของภาพวาด
แม้เราจะเห็นวิวนี้ได้บางส่วนจากข้างในรถไฟ แต่แฟนๆ ชาวโทริเท็ตสึที่อยากจะเก็บภาพรถไฟพร้อมสะพานสีแดงอาจจะอยากไปที่ทำเลชั้นเยี่ยมเพื่อถ่ายรูปสักรูปสองรูปตามเส้นทางถนน National Route 107 (国道107号線 Kokudō-107-gō-sen) ซึ่งเดินไปถึงได้โดยใช้เวลา 30-40 นาทีจากสถานี Yuda-Kinshūko (ゆだ錦秋湖駅 Yuda-Kinshūko-eki)!
ผ่อนคลายกับออนเซ็นที่สถานี Hotto-Yuda
สถานี Hotto-Yuda หนึ่งในสถานีหลักของทางรถไฟ ประตูทางซ้ายที่มีม่านสีน้ำเงินคือทางเข้าออนเซ็น (เครดิตภาพ: Kevin Koh)
คงพูดได้ว่ากิจกรรมที่น่าสนใจที่สุดที่ต้องไปสัมผัสให้ได้ของทางรถไฟสายนี้อยู่ ณ สถานี Hotto-Yuda (ほっとゆだ駅 Hotto-Yuda-eki) หนึ่งในสถานีไม่กี่แห่งที่มีพนักงานประจำอยู่ของทางรถไฟสายนี้ ซึ่งในจำนวนนั้นมีสถานีปลายทางอีกสองแห่งรวมอยู่ด้วย สิ่งที่ทำให้สถานี Hotto-Yuda โดดเด่นก็คือการเป็นที่แรกในญี่ปุ่นที่มีออนเซ็นให้บริการอยู่ในตัวอาคารสถานี ตัวออนเซ็นนั้นถูกสร้างในปี 1989 ซึ่งเป็นเวลาไม่นานหลังจากที่อดีต Japanese National Railways (JNR) ถูกปรับให้เป็นของเอกชนและ JR East เข้ามาดูแลการให้บริการของทางรถไฟสาย Kitakami แทน
สถานีแห่งนี้ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ในปี 1991 จากเดิมชื่อสถานี Rikuchū-Kawashiri (陸中川尻駅 Rikuchū-Kawashiri-eki) เป็น Hotto-Yuda แทน ซึ่งเป็นเวลาสองปีหลังจากที่ออนเซ็นถูกสร้างขึ้น คำว่า “Hotto” เป็นวิธีออกเสียงคำว่า “Hot” แบบญี่ปุ่น และ “Yuda” มาจากชื่อหมู่บ้านออนเซ็น Yuda Onsenkyо̄ (湯田温泉郷) ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ
ระบบสัญญาณไฟจราจรที่มีไว้บอกเวลาในออนเซ็นที่สถานี Hotto-Yuda (เครดิตภาพ: 西和賀町商工観光課)
สถานี Hotto-Yuda เป็นเพียงหนึ่งในสถานีจำนวน 20 แห่งในญี่ปุ่นที่ผู้ใช้บริการรถไฟสามารถผ่อนคลายด้วยการแช่น้ำร้อนได้แทบจะในทันทีหลังจากลงรถ นอกจากจะเป็นที่แรกแล้ว สิ่งที่ทำให้สถานีแห่งนี้ต่างจากที่อื่นก็คือการมีไฟจราจรติดตั้งอยู่ในโซนอาบน้ำ ซึ่งไฟจราจรนี้ทำหน้าที่เป็นตัวจับเวลาเพื่อเตือนผู้ใช้บริการว่ารถไฟขบวนถัดไปจะมาเมื่อไหร่นั่นเอง ไฟสีเขียวจะขึ้น ณ เวลา 45 ก่อนรถไฟมา ไฟเหลืองจะขึ้น ณ เวลา 30 นาทีล่วงหน้า และไฟแดงที่ 15 นาทีล่วงหน้า คุณจะเห็นระบบนี้ได้ในอีกที่เดียวในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น (ที่สถานี Minami-Kodakara-Onsen ในจังหวัดกิฟุ)
ผมไม่รู้เรื่องลูกเล่นนี้มาก่อนที่จะขึ้นรถไฟสาย Kitakami คิดดูว่าผมประหลาดใจแค่ไหนตอนที่ผมเข้าไปในโซนที่อาบน้ำแล้วเห็นไฟจราจรติดอยู่บนผนัง! แน่นอนว่ามันเป็นวิธีที่ไม่เหมือนใครในการบอกเวลาที่เหลือก่อนรถไฟขบวนถัดไปจะมา และเป็นวิธีที่มองเห็นได้ง่ายกว่านาฬิกาทั่วไปเมื่ออยู่ท่ามกลางไอน้ำของบ่อน้ำในที่ร่ม
Hotto-Yuda (ほっとゆだ)
ที่อยู่: 40-53 Kawashiri, Nishi-Waga-machi, Waga-gun, Iwate, 029-5512
การเดินทาง: ตั้งอยู่ข้างในสถานี JR Hotto-Yuda (JRほっとゆだ駅)
เวลาทำการ: 7:00–21:00 น. ทุกวัน
โทร: +81-19-782-2911
โยโกเตะ เมืองแห่งคามาคุระ
คามาคุระจิ๋วในงานเทศกาล Yokote Kamakura (เครดิตภาพ: 東北観光推進機構)
โยโกเตะเป็นเมืองที่ค่อนข้างเงียบสงบ ซึ่งต่างจากเมืองโยโกเตะอีกแห่งในจังหวัดอิวาเตะที่คึกคักกว่า ในขณะที่สถานี Kitakami เป็นสถานีของรถไฟชินกันเซ็นไปด้วยในตัว โดยมีรถไฟเข้ามาจอดแทบทุกชั่วโมงระหว่างที่วิ่งไปตามเส้นทางระหว่างโตเกียวและโมริโอกะ แต่ที่สถานี Yokote ไม่มีรถไฟด่วนพิเศษหรือรถไฟด่วนใดๆ จอดที่นี่อีกแล้ว ในทางกลับกัน จะมีเพียงรถไฟท้องถิ่นของทางรถไฟสายหลัก Ōu (Ōu Main Line) เท่านั้นที่จะมาจอดที่นี่ระหว่างทางไปยังสถานี Akita ที่อยู่ทางเหนือขึ้นไปอีก แต่เมืองแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องคามาคุระ (かまくら) กระท่อมหิมะเล็กๆ ที่ถูกสร้างขึ้นในฤดูหนาว และคามาคุระแห่งเมืองโยโกเตะนี้เป็นที่รักมากจนทางเมืองจัดงานเทศกาลให้โดยเฉพาะในทุกๆ ฤดูหนาว!
ในช่วงงานเทศกาล Yokote Kamakura Festival (横手の雪まつり Yokote no yuki-matsuri) ที่จะจัดในทุกๆ วันที่ 15 และ 16 กุมภาพันธ์ของทุกปี คามาคุระราว 100 หลังที่สร้างโดยช่างฝีมือจะถูกจัดแสดงในเมืองโยโกเตะ และมีอีเว้นต์มากมายให้สนุกกันได้ตลอดช่วงสุดสัปดาห์ที่จัดงานเทศกาล สำหรับใครที่วางแผนเที่ยวเมืองโยโกเตะในเวลาอื่นก็ไม่ต้องห่วงไป เพราะคุณยังสามารถชมคามาคุระและสัมผัสประสบการณ์การเข้าไปอยู่ข้างในได้!
คามาคุระที่จัดแสดงอยู่ที่ Yokote Tourism Association (เครดิตภาพ: Kevin Koh)
ที่ Yokote Fureai Center Kamakura-Kan (横手ふれあいセンターかまくら館) ที่เดิน 15 นาทีถึงจากสถานี Yokote นั้น จะมีมุมที่มีคามาคุระจัดแสดงอยู่แบบถาวรที่อุณหภูมิ -10 องศาเซลเซียส เพียงชำระค่าเข้านิดๆ แค่ 100 เยนเท่านั้น นักท่องเที่ยวจะได้เข้าไปข้างในคามาคุระเพื่อดูข้างใน ด้วยความที่คามาคุระจะถูกปูด้วยพื้นหญ้าและมีรองเท้าสลิปเปอร์ให้ คุณไม่ต้องกลัวว่าจะลื่นล้มบนพื้นน้ำแข็งเลย และเรายังสามารถสัมผัสการอยู่ข้างในคามาคุระได้ด้วยตนเองอีกด้วย ซึ่งครบทุกรายละเอียดด้วยเตาแบบจำลองเล็กๆ สำหรับย่างโมจิ เหมือนในคามาคุระของจริงเลย!
นอกจากคามาคุระแล้ว ยังมีห้องโสตทัศนศึกษาที่บนจอใหญ่จะฉายวิดีโอแนะนำว่าเมืองโยโกเตะมีอะไรให้เราค้นหาบ้าง รวมถึงร้านขายของที่ระลึกให้เราซื้อของดีและสินค้าท้องถิ่นได้ด้ย ทำให้เป็นที่แวะเที่ยวชั้นดีสำหรับใครที่มาเที่ยวเมืองโยโกเตะ!
Yokote Fureai Centre Kamakura-Kan (横手ふれあいセンターかまくら館)
ที่อยู่: 8-12 Chūō-machi, Yokote, Akita, 013-0023
การเดินทาง: เดิน 15 นาทีจากสถานี JR Yokote (JR横手駅)
เวลาทำการ: 9:00–17:00 น. ทุกวัน
โทร: +81-18-233-7111
ทางรถไฟสาย Hanawa (花輪線)
สถานี Araya-Shinmachi ของทางรถไฟสาย Hanawa หนึ่งในสถานีไม่กี่แห่งที่รถไฟที่รถไฟสามารถวิ่งผ่านกันได้ (เครดิตภาพ: kimagurenote / CC BY-NC-SA 2.0)
ทางรถไฟสายถัดไปของบทความนี้ก็มีสถานีปลายทางอยู่ที่จังหวัดอิวาเตะและจังหวัดอาคิตะเช่นเดียวกันกับทางรถไฟสาย Kitakami โดยทางรถไฟสาย Hanawa (花輪線 Hanawa-sen) นี้เชื่อมระหว่างสถานี Kōma (好摩駅 Kōma-eki) ในจังหวัดอิวาเตะและสถานี Ōdate (大館駅 Ōdate-eki) ในจังหวัดอาคิตะ แต่ที่จริงแล้วขบวนรถไฟจะเริ่มให้บริการที่สถานี Morioka ถ้าคุณอยากจะลองเดินทางบนทางรถไฟสาย Hanawa จากฝั่งจังหวัดอิวาเตะล่ะก็ คุณสามารถไปถึงได้ง่ายๆ จากสถานี Morioka ซึ่งเป็นสถานีรถไฟชินกันเซ็นที่ทั้งรถไฟ Tohoku Shinkansen และ Akita Shinkansen จะจอด รถไฟจะออกจากสถานี Morioka ผ่านทางรถไฟสาย Iwate Galaxy Railway (IGR) ไปยังสถานี Kōma และจากตรงนั้นรถไฟจะวิ่งตรงต่อไปยังทางรถไฟสาย Hanawa
ในขณะที่ทางรถไฟสาย Kitakami ได้ชื่อตามสถานีปลายทางของมัน ทางรถไฟสาย Hanawa นั้นถูกตั้งชื่อตามสถานี Kazunohanawa (鹿角花輪駅 Kazunohanawa-eki) หนึ่งในสถานีหลักของทางรถไฟสายนี้ ซึ่งถูกตั้งชื่อตามเขตฮานาวะ (花輪町 Hanawa-machi) ในอดีตของเมืองคาสุโนะที่เป็นที่ตั้งของสถานีอีกที
เช่นเดียวกันกับทางรถไฟสายท้องถิ่นอื่นๆ ที่หยิบยกขึ้นมาในบทความนี้ ปัจจุบันทางรถไฟสาย Hanawa แทบจะให้บริการผู้คนในท้องถิ่นโดยเฉพาะ ยกเว้นบรรดาคนรักกีฬาฤดูหนาวที่มักมาเยือนลานสกีที่ตั้งอยู่ตามเส้นทางรถไฟสายนี้ อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ทางรถไฟสาย Kitakami และ Yonesaka (米坂線 Yonesaka-sen) จะยังมีรถไฟด่วนวิ่งให้บริการอยู่ ทางรถไฟสาย Hanawa นั้นมีเพียงรถไฟท้องถิ่นเท่านั้นที่วิ่งตลอดระยะทางเกือบ 107 กม. ของทางรถไฟอยู่ โดยมีรถไฟที่วิ่งออกจากโมริโอกะเพียงเจ็ดขบวน และแปดขบวนวิ่งออกจากโอดาเตะ ถึงอย่างนั้น ทางรถไฟสาย Hanawa ยังคงมีหน้าที่สำคัญในฐานะทางรถไฟที่เชื่อมระหว่างพื้นที่ตอนเหนือของจังหวัดอาคิตะกับจังหวัดอิวาเตะ อีกทั้งยังเป็นยานพาหนะในการเดินทางสำหรับบรรดานักเรียนอีกด้วย
วิวฤดูหนาวบนทางรถไฟสาย Hanawa
วิวที่เห็นได้ตามทางรถไฟสาย Hanawa ในฤดูหนาว (เครดิตภาพ: Kevin Koh)
อีกชื่อหนึ่งของทางรถไฟสายนี้คือทางรถไฟสาย Towada-Hachimantai Shikisai (十和田八幡平四季彩ライン) และอย่างที่ชื่อบอกเลย วิวตามทางรถไฟสาย Hanawa นี้สวยงามตลอดทั้งปี เพราะรถไฟจะวิ่งไปตามแนวแม่น้ำโยเนะชิโระ (米代川 Yoneshiro-gawa) ในโอดาเตะ ลัดเลาะไปมาผ่านพื้นที่ฮาจิมันไต (八幡平) ที่เด็มไปด้วยภูเขาระหว่างจังหวัดอาคิตะและจังหวัดอิวาเตะ ผ่านไร่ทุ่งในจังหวัดอิวาเตะและมุ่งหน้าไปยังสถานี Kōma ด้วยความที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขา จึงมีหิมะตกหนาตลอดทางรถไฟ และการได้มองออกไปเห็นยอดเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะและผืนป่าสีขาวระหว่างที่รถไฟวิ่งผ่านทางที่ดูเหมือนอุโมงค์หิมะนั้นเป็นภาพตรึงตาที่จะเห็นได้จากข้างในรถไฟ
แม่น้ำโยเนะชิโระที่เห็นได้จากทางรถไฟสาย Hanawa และทางข้ามรางรถไฟที่เห็นได้จากข้างในรถไฟ (เครดิตภาพ: kimagurenote / CC BY-NC-SA 2.0)
ไฮไลท์พิเศษเลยก็คือวิวที่เราถ่ายรูปเก็บไว้ได้ ฮาจิมันไตเป็นพื้นที่ที่มีภูเขามากมาย รวมถึงภูเขาอิวาเตะ (岩手山 Iwate-san) สุดยิ่งใหญ่ที่เป็นภูเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดของและเป็นความภาคภูมิใจของคนจังหวัดอิวาเตะด้วย ระหว่างที่รถไฟวิ่งไปตามพื้นที่ของจังหวัดอิวาเตะ เราจะเห็นภูเขาอิวาเตะได้จากบนรถไฟ และเป็นโอกาสให้ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปได้อย่างเหลือเฟือ!
รถไฟของทางรถไฟสาย Hanawa ที่กำลังผ่านนาข้าวที่ปกคลุมด้วยหิมะโดยมีภูเขาอิวาเตะเป็นฉากหลัง (เครดิตภาพ: JR East / Go Takahashi)
อีกทางเลือกหนึ่งคือ คนรักการถ่ายรูปสามารถเล็งมุมถ่ายรูปที่มีทางรถไฟสาย Hanawa โดยมีภูเขาอิวาเตะเป็นฉากหลังได้ จากทำเลหลายจุดตามทางรถไฟนี้ในพื้นที่เมืองฮาจิมันไต ทำเลเหล่านี้จะมีนาข้าวและทุ่งอื่นๆ อยู่ใกล้ๆ ด้วย ทำให้เก็บรูปเช่นภาพบรรดารถไฟตัดผ่านนาข้าวที่ปกคุลมด้วยภูเขาพร้อมภูเขาอิวาเตะเป็นฉากหลังเป็นต้น!
ชิมโทริเมชิสักนิดที่สถานี Ōdate
โรงงาน Hanazen ที่มีร้านอาหารในตัว รวมถึงเอกิเบ็นฮิไนจิโดริ โทริเมชิ (เครดิตภาพ: Kevin Koh)
ประสบการณ์หนึ่งที่หาที่อื่นได้ยากก็คือการได้ชิมเอกิเบ็นที่เพิ่งปรุงเสร็จใหม่ๆ ที่สถานี Ōdate ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Hanazen (花善) บริษัทเอกิเบ็นท้องถิ่นที่เริ่มกิจการในฐานะมุมจำหน่ายเบ็นโตะในเรียวกังแห่งหนึ่งเมื่อปี 1899 ในขณะที่บริษัทเอกิเบ็นส่วนมากจะผลิตเอกิเบ็นหลายแบบ แต่ Hanazen จะผลิตเอกิเบ็นเพียงแบบเดียวอยู่ไม่กี่สูตรเท่านั้น นั่นคือโทริเมชิ (鶏めし) เมนูที่ข้าวจะถูกหุงด้วยน้ำซุปรสเลิศพร้อมเนื้อไก่และรากโกโบ เสิร์ฟพร้อมเครื่องเคียงอื่นๆ เห็นเรียบง่ายแบบนี้ แต่โทริเมชิ เอกิเบ็นของ Hanazen พิสูจน์คุณภาพความอร่อยมาแล้วด้วยการชนะรางวัลประกวดเอกิเบ็นที่จัดโดย JR East มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2014 และถูกพูดถึงในสื่อมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งโทริเมชิอร่อยมากจน Hanazen เปิดสาขาในปารีสมาแล้วเมื่อปี 2018
ในขณะที่เอกิเบ็นส่วนมากจะถูกปรุงขึ้นที่อื่นแล้วค่อยถูกลำเลียงมาจำหน่ายตามสถานีรถไฟ แต่ด้วยความที่ Hanazen ตั้งอยู่ติดกับสถานี Ōdate เอกิเบ็นที่ผู้คนซื้อที่นั่นจึงจะเป็นแบบตามสั่งซึ่งใช้เวลาตั้งแต่ 5-10 นาที แม้ลำพังการได้ซื้อเอกิเบ็นภายในสถานีจะเป็นตัวชูรสให้กับประสบการณ์การเดินทางอยู่แล้ว แต่เอกิเบ็นที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ และยังอุ่นอยู่นิดๆ นั้นช่วยยกระดับประสบการณ์ที่ว่านี้และทำให้มันเป็นที่น่าจดจำมากยิ่งขึ้น
ฮิไนจิโดริ โทริเมชิ (比内地鶏鶏めし Hinai-jidori-torimeshi) ของ Hanazen จัดเป็นหนึ่งในสามเอกิเบ็นอันดับต้นๆ ในใจผม และผมมักจะซื้อมันซ้ำแล้วซ้ำอีกระหว่างอยู่ที่จังหวัดอาคิตะ แม้ว่าจะยังมีเอกิเบ็นอีกมากมายที่ผมยังไม่ได้ลองก็ตาม! ความลับของมันนั้นอยู่ที่เนื้อไก่ที่ใช้ โดยฮิไนจิโดริ (比内地鶏) เป็นไก่ที่ถูกเพาะเลี้ยงในท้องถิ่นและถือเป็นหนึ่งในสามพันธุ์ไก่ที่อร่อยที่สุดในญี่ปุ่น ในจำนวนนั้นมีไก่ซัตสึมะของจังหวัดคาโกชิมะและโคจินของนาโกยะ
Hanazen (花善)
ที่อยู่: 1-10-12 Onari-chō, Ōdate, Akita, 017-0044
การเดินทาง: เดิน 1 นาทีจากสถานี JR Ōdate (JR大館駅)
เวลาทำการ: 6:30–18:30 น. ทุกวัน (ร้านอาหาร: 10:00–14:30 น. (ออเดอร์สุดท้าย))
โทร: +81-18-643-0870
การนั่งรถไฟ Switchback ที่ Towadaminami
บรรดาชานชลาและอาคารสถานีรถไฟของสถานี Towadaminami (เครดิตภาพ: Kevin Koh)
อีกประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครที่จะหาได้ตามทางรถไฟสาย Hanawa ก็คือการ Switchback ที่สถานี Towadaminami (十和田南駅 Towadaminami-eki) การ Switchback หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่าการ Zig Zag เป็นวิธีที่ใช้เพื่อให้รถไฟสามารถไต่ระดับเนินชันได้โดยใช้งานอุโมงค์ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ หนึ่งในการ Switchback ที่มีชื่อเสียงที่สุดในพื้นที่ญี่ปุ่นตะวันออกนั้นคือที่สถานี Obasute (姨捨駅 Obasute-eki) ท่ามกลางภูเขาในจังหวัดนากาโนะ ซึ่งคุณสามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
อย่างไรก็ตาม การ Switchback ที่ Towadaminami จะต่างกับที่ Obasute อยู่อย่างหนึ่งก็คือรถไฟจะถอยหลังกลับก่อนที่จะเดินหน้าต่อ แทนที่จะเดินหน้าเพื่อขึ้นที่ลาดเอียง เหตุผลนั้นเพราะเดิมทีมีโครงการที่จะขยายทางรถไฟต่อไปยังสถานี Kosaka (小坂駅 Kosaka-eki) ดังนั้นรางรถไฟจึงถูกวางไว้ในลักษณะนี้เพื่อเอื้อให้กับงานก่อสร้างที่จะเกิดขึ้นต่อไป
ครั้งแรกที่ผมเดินทางบนทางรถไฟสาย Hanawa ผมไม่รู้มาก่อนเลยว่ารถไฟจะมาสลับทิศทางการเดินรถไฟที่สถานี Towadaminami เพราะงั้นคุณคงนึกออกว่าผมสับสนอยู่ตอนที่จู่ๆ ก็กลายเป็นว่าผมนั่งอยู่ท้ายรถแล้วในตอนที่รถไฟเริ่มวิ่งอีกครั้ง ทั้งที่เมื่อไม่กี่นาทีที่แล้วผมยังนั่งอยู่ที่ตรงหน้าสุดของรถอยู่เลย! ด้วยความที่ปัจจุบันมีทางรถไฟไม่กี่สายเท่านั้นที่ใช้งานระบบ Switchback อยู่ ทำให้ทางรถไฟสาย Hanawa เป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจอย่างแน่นอน อย่างน้อยคุณจะได้รู้เหตุผลว่าทำไมจู่ๆ ผู้โดยสารคนอื่นจึงเริ่มหมุนเบาะนั่งของตัวเองให้หันไปอีกด้านทันทีที่รถไฟวิ่งมาถึงสถานี Towadaminami!
ทางรถไฟสาย Yonesaka (米坂線)
รถไฟขบวนหนึ่งกำลังออกจากสถานี Minami-Yonezawa บนทางรถไฟสาย Yonesaka เพื่อมุ่งหน้าไปยัง Yonezawa และหน้าตาข้างนอกของสถานี (เครดิตภาพ: Kevin Koh)
ขณะที่ทางรถไฟอีกสองสายที่หยิบยกมาในบทความนี้ล้วนอยู่ในภูมิภาคโทโฮคุ แต่ที่สุดท้ายที่จะขอพูดถึงนั้นเป็นเส้นทางรถไฟที่เริ่มจากพื้นที่ในโทโฮคุและมาจบที่จังหวัดนีงาตะ ทางรถไฟสาย Yonesaka (米坂線 Yonesaka-sen) เชื่อมระหว่างสถานี Yonezawa (米沢駅 Yonezawa-eki) ในเมืองโยเนะซาว่าจังหวัดยามากาตะกับสถานี Sakamachi (坂町駅 Sakamachi-eki) ในเมืองมุราคามิ (Murakami City) จังหวัดนีงาตะ และเป็นอีกทางรถไฟสายท้องถิ่นที่โดดเด่นเรื่องวิวสุดตื่นตาในฤดูหนาว
รถด่วน Rapid Benibana ที่รอออกรถที่สถานี Oguni (เครดิตภาพ: Kevin Koh)
จุดที่ต่างจากทางรถไฟสายอื่นที่พูดถึงในบทความนี้ก็คือ ทางรถไฟสาย Yonesaka นี้ยังคงมีบริการรถด่วนวิ่งระหว่างสถานี Niigata และสถานี Yonezawa อยู่ ทำให้การนั่งรถบนทางรถไฟสายนี้เป็นไปได้ง่าย โดยสามารถนั่งรถไฟจากโตเกียวไปถึงทั้งสองสถานีได้ง่ายโดยใช้ Jōetsu และ Yamagata Shinkansen ตามลำดับ บริการรถด่วน Rapid Benibana (快速べにばな Kaisoku benibana) ถูกตั้งชื่อตามดอกไม้ประจำจังหวัดยามากาตะเบนิบานะ (紅花 Safflower) โดยรถไฟขบวนนี้จะวิ่งให้บริการไป-กลับเพียงรอบเดียวต่อวันเท่านั้น
ถึงอย่างนั้น ในวันหนึ่งทางรถไฟสาย Yonesaka จะมีรถไฟวิ่งให้บริการเพียง 5 ขบวนต่อวัน ในจำนวนนี้รวมถึงบริการรถไฟด่วนที่เอ่ยถึงไปก่อนหน้านี้ด้วย ในขณะที่ทางรถไฟฝั่งที่อยู่ในจังหวัดยามากาตะจะมีรถไฟอีกหกขบวนที่ไปสุดสายตามสถานีที่ให้บริการชุมชนท้องถิ่น แต่ฝั่งนีงาตะนั้นมีรถไฟอีกเพียงขบวนเดียวที่ให้บริการเป็นขบวนสุดท้ายของวันและจะไปสุดสายที่สถานี Oguni (小国駅 Oguni-eki) ซึ่งเป็นสถานีแรกที่ตั้งอยู่ตรงเส้นแบ่งเขตระหว่างจังหวัดนีงาตะและจังหวัดยามากาตะพอดี
วิวฤดูหนาวตามทางรถไฟสาย Yonesaka
วิวบางส่วนที่เห็นได้ตามทางรถไฟสาย Yonesaka ในฤดูหนาว (เครดิตภาพ: Kevin Koh)
ด้วยความที่พื้นที่รอบๆ ทางรถไฟสาย Yonesaka นั้นเต็มไปด้วยภูเขา ทำให้พื้นที่เมืองต่างๆ ที่ทางรถไฟผ่านจะมีหิมะตกหนามากในฤดูหนาว โดยเฉพาะที่โอกุนิ (Oguni) ซึ่งหิมะมักจะปกคลุมหนากว่า 2 เมตร ผมยังจำตอนที่มองออกไปหน้าต่างหลังจากรถไฟออกจากสถานี Oguni ได้สักพักและรู้สึกทึ่งว่าหิมะทับถมสูงขนาดไหน ซึ่งมันเยอะมากจนทุกอย่างรอบๆ ตัวผมกลายเป็นสีขาวหมดจนแทบจะมองอะไรรอบตัวไม่ออกเลย ยิ่งไปกว่านั้น เพราะพื้นที่เมืองโยเนะซาว่ามีลักษณะเป็นแอ่งที่ถูกล้อมรอบด้วยภูเขามากมาย พื้นที่แห่งนี้จึงมีหิมะตกเยอะและเอื้อให้ผู้โดยสารมีโอกาสเห็นวิวหิมะมากมายระหว่างเดินทางไปตามทางรถไฟสายนี้ในฤดูหนาว
ศาลเจ้าที่ปกคลุมด้วยหิมะในเมืองโยเนะซาว่า (เครดิตภาพ: Kevin Koh)
ตอนที่ผมลงรถที่สถานี Minami-Yonezawa (南米沢駅 Minami-Yonezawa-eki) เพื่อเดินรอบๆ ท่ามกลางหิมะและสำรวจเมืองโยเนะซาว่า ผมก็เห็นซุ้มประตูโทริอิของศาลเจ้าตั้งจมอยู่ลึกในชั้นหิมะ รวมถึงหลังคาอาคารไม้เก่าๆ ของ Kojima Brewery ที่ถูกปกคลุมด้วยชั้นหิมะหนาสีขาว ภาพที่เห็นนี้ทำให้ผมรู้สึกเงียบสงบในใจมากๆ ได้อย่างบอกไม่ถูก แต่พอผ่านไปสักพักก็เริ่มหนาวๆ ขึ้นมาบ้างแล้วเหมือนกัน เพราะมีหิมะเข้าไปละลายอยู่ในรองเท้าบู้ทของผม แต่สำหรับคนที่มาจากประเทศเขตร้อนชื้นล่ะก็ วิธีสัมผัสความเย็นเฉียบของฤดูหนาวที่ดีที่สุดก็คงเป็นวิธีนี้ซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับที่คนท้องถิ่นสัมผัสกัน
แม่น้ำอาราคาวะและแนวเทือกเขาอาซาฮิในฉากหลังที่มองเห็นได้จากบนรถไฟ (เครดิตภาพ: Kevin Koh)
บรรดาวิวที่ประทับใจมากที่สุดสำหรับผมก็คือวิวที่เห็นในช่วงที่ทางรถไฟวิ่งผ่านจังหวัดนีงาตะ ขณะที่รถไฟวิ่งเลียบไปตามริมแม่น้ำอาราคาวะ Arakawa River (荒川 Arakawa) ที่เป็นแม่น้ำสายหลักซึ่งไหลผ่านจังหวัดยามากาตะและจังหวัดนีงาตะก่อนที่จะออกสู่ทะเลญี่ปุ่น คุณจะได้เห็นวิวที่สวยงามราวกับภาพวาดที่มีแม่น้ำอยู่ทางซ้ายและยอดเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะของแนวเทือกเขาอาซาฮิอยู่ในฉากหลัง อันที่จริงแล้ว ภาพส่วนใหญ่ที่ผมถ่ายระหว่างนั่งบนทางรถไฟสาย Yonesaka นั้นเป็นภาพที่ถ่ายในช่วงที่วิ่งในจังหวัดนีงาตะ ถือเป็นตัวชี้ได้เลยว่าวิวนั้นสวยขนาดไหน (และจะยิ่งดีงามขึ้นไปอีกเมื่อจับคู่กับสาเกท้องถิ่นของจังหวัดนีงาตะสักกระป๋อง!)
ทางรถไฟสาย Flower Nagai ที่เชื่อมกับทางรถไฟสาย Yonesaka ณ สถานี Imaizumi (เครดิตภาพ: kumazo / CC BY-SA 2.0)
อีกประสบการณ์หนึ่งที่หาได้บนทางรถไฟสาย Yonesaka และทางรถไฟอีกสองสายไม่มีในบทความนี้ก็คือการย้ายไปนั่งรถไฟอีกสายระหว่างทางนั่นเอง สถานี Imaizumi (今泉駅 Imaizumi-eki) เป็นสถานีเปลี่ยนสายระหว่างทางรถไฟสาย JR Yonesaka และทางรถไฟสาย Flower Nagai (フラワー長井線 Furawā Nagai-sen) ของ Yamagata Railway โดยทางรถไฟสาย Flower Nagai วิ่งระหว่างสถานี Akayu (赤湯駅 Akayu-eki) และสถานี Arato (荒砥駅 Arato-eki) ซึ่งทั้งสองสถานีต่างอยู่ในจังหวัดยามากาตะ ดังนั้นสำหรับใครที่อยากเพิ่มประสบการณ์นั่งทางรถไฟสายท้องถิ่นสามารถเปลี่ยนรถไฟเพื่อตามหาวิวชนบทเรียบง่ายที่หาได้ในจังหวัดยามากาตะ! ผมเองก็ยังไม่ได้นั่งรถไฟของทางรถไฟสาย Flower Nagai เช่นกัน เพราะงั้นผมมีคิวที่ต้องนั่งทางรถไฟสายนี้และนั่งทางรถไฟสาย Yonesaka อีกครั้งในอนาคตแน่นอน!
ปิดท้าย
รถไฟบนทางรถไฟสาย Kitakami กำลังวิ่งอยู่บนรางรถไฟยกระดับข้ามคินชูโกะ (เครดิตภาพ: 西和賀町 / 橋本翔也様)
เช่นเดียวกับการที่ภูเขาเผยให้เห็นมุมที่ต่างกันออกไปตามฤดูกาลที่เปลี่ยนผ่าน วิวตามทางรถไฟสายท้องถิ่นเช่นนี้เองก็มีหลายมุมหลายด้านให้เห็นตลอดทั้งปีเช่นกัน และนี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ว่าทำไมผมสนุกกับการเป็นโนริเท็ตสึมากขนาดนี้ การมองออกไปยังทิวทัศน์สีขาวจากข้างในรถไฟและเห็นเกล็ดหิมะลอยผ่านไป โดยมีบางอันติดอยู่ที่กระจกหน้าต่างนานพอก่อนจะเสียรูปทรงและละลายหายไปนั้น มันมีบางอย่างที่สนุกเพลิดเพลินอย่างบอกไม่ถูก
สำหรับพวกคุณที่อยากจะหลบหนีความครึกครื้นวุ่นวายของเมืองและผ่อนคลายไปกับความเงียบสงบบ้าง ฤดูหนาวเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการสนุกไปกับการนั่งรถไฟสายท้องถิ่นอย่างแน่นอน อีกทั้งยังไม่ได้มีแค่ทางรถไฟสามสายที่เราพูดถึงกันในนี้ด้วยนะ! ภูมิภาคโทโฮคุเปรียบเหมือนแหล่งขุมทรัพย์ทางรถไฟสายท้องถิ่น ซึ่งแต่ละสายล้วนมีเรื่องราวของตัวเองและภาพวิวที่ให้เราสัมผัสได้ ครั้งต่อไปที่คุณกำลังวางแผนเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ลองเพิ่มทางรถไฟสายท้องถิ่นในโทโฮคุเข้าไปสักหนึ่งหรือสองสายดู และเตรียมตัวพบกับภาพ สรรพเสียง และรสชาติที่พบได้ระหว่างทางซึ่งจะทำให้คุณประหลาดใจและอมยิ้มไปได้พร้อมๆ กัน!
เครดิตภาพปก: JR East / Go Takahashi
Translated by ANNGLE