Rail Travel

สุดยอดปลาทูน่าแห่งญี่ปุ่นที่เมืองโอมะและคาบสมุทรชิโมกิตะ

สุดยอดปลาทูน่าแห่งญี่ปุ่นที่เมืองโอมะและคาบสมุทรชิโมกิตะ

อย่างที่เราๆรู้กันว่าปลาส่วนใหญ่ที่ถูกนำมาทำเป็นเมนูอาหารประเภทซาชิมิและซูชินั้นจะเป็นปลาแซลมอนและปลาทูน่า ปลาทูน่าสามารถจับได้ทั่วไปในญี่ปุ่นแต่ทว่าปลาทูน่าครีบน้ำเงิน (本マグロ hon-maguro) จากเมืองโอมะ (大間 Ōma) แห่งคาบสมุทรชิโมกิตะนั้นถือว่าเป็นที่สุดของปลาทูน่าญี่ปุ่นด้วยการผสมผสานอย่างลงตัวของเนื้อปลาที่มีคุณภาพและปริมาณไขมันที่ดี จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ในการประมูลปลาที่ตลาดปลาซึคิจินั้นปลาที่ได้ราคาสูงที่สุดคือ ? บ่อยครั้งจะเป็นปลาที่มาจากเมืองโอมะนั่นเอง

 

ทำไมปลาทูน่าของเมืองโอมะจึงพิเศษกว่าของที่อื่น?

โอมะทูน่า เป็นเหมือนฉลากสินค้า และปลาที่จะติดป้าย “Oma Tuna” ได้จะต้องผ่านมาตรฐานและได้รับการรับรองเสียก่อน ครั้งหนึ่งฉันได้เห็นรูปข้าวหน้าปลาโอมะทูน่าที่ดูน่ากินเสียเหลือเกินจนทำให้รู้สึกว่าจะต้องมาลองทานของจริงให้ได้สักครั้งหนึ่งและจะเป็นที่ไหนไม่ได้เลยนอกจากที่แหล่งกำเนิดของมัน คือ ที่เมืองโอมะแห่งนี้นั่นเอง 

 

แล้วเมืองโอมะอยู่ที่ไหนกันหละ? แหลมโอมะ (大間崎 Ōmazaki) เป็นจุดที่อยู่เหนือสุดของเกาะฮอนชู (เกาะใหญ่สุดของญี่ปุ่น) ตั้งอยู่บริเวณคาบสมุทรชิโมกิตะ จังหวัดอาโอโมริ ซึ่งที่เมืองโอมะแห่งนี้นี่มีช่องแคบสึการุที่มีกระแสน้ำที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการเจริญเติบโตของปลาทูน่าครีบน้ำเงิน และในวันที่ท้องฟ้าปลอดโปร่งเราสามารถมองเห็นเมืองฮาโกดาเตะของฮอกไกโดได้โดยมองผ่านทางช่องแคบสึการุได้ด้วยนะ

 

ช่องแคบสึการุเป็นแหล่งน้ำที่เชื่อมระหว่างทะเลญี่ปุ่นกับมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งกั้นระหว่างแผ่นดินใหญ่ของญี่ปุ่น (เกาะฮอนชู) และเกาะฮอกไกโดทางตอนเหนือ ซึ่งการผสมผสานกันระหว่างกระแสน้ำเย็นและกระแสน้ำอุ่นบริเวณนี้มีผลทำให้สัตว์น้ำบริเวณนี้มีความเจริญเติบโตเป็นอย่างดี และทำให้เกิดอาหารทะเลคุณภาพยอดเยี่ยมได้ตลอดทั้งปี

 

อนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่เหนือสุดของแผ่นดินใหญ่ญี่ปุ่น (ซ้าย) และอนุสาวรีย์ปลาทูน่าอิปปอนซูริที่มีชื่อเสียงของโอมะ (ขวา) (เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh)

 

ปลาโอมะทูน่ามีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 150 กิโลกรัม แต่ทว่าในตัวที่มีขนาดใหญ่จะมีน้ำหนักมากถึง 300 – 400 กิโลกรัมเลยทีเดียว ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการทานปลาโอมะทูน่าจะอยู่ในช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนสิงหาคม ถึงเดือนมกราคม อย่างไรก็ตามเราก็ยังสามารถหาทานปลาโอมะทูน่าได้ตลอดทั้งปีเช่นกันแต่จะเป็นปลาทูน่าที่ผ่านการแช่แข็งเอาไว้นะ เนื่องจากช่วงเดือนธันวาคมถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดหากจะลองทานปลาโอมะทูน่า ดังนั้นในช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมานี้ฉันจึงตัดสินเดินทางไปที่เมืองโอมะเพื่อไปลองสัมผัสกับรสชาติของปลาทูน่าอันโด่งดัง

 

ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวโอมซากิ (ซ้าย) และตารางเดินรถบัส (ขวา) (เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh)

 

เนื่องจากตัวเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ทางด้านตอนเหนือ ประกอบกับการที่คาบสมุทรชิโมกิตะ จะมีประมาณหิมะที่ค่อนข้างจะหนาแน่นและการขนส่งสาธารณะในช่วงฤดูหนาวไม่ค่อยมีบ่อยมากนัก แต่ก็ยังดีที่ยังมีรถไฟ รถบัส รวมถึงร้านอาหารบางร้านยังคงเปิดให้บริการอยู่ในฤดูหนาว

 

หากต้องการไปยังเมืองโอมะ ขั้นแรกเราต้องไปที่สถานีรถบัส Mutsu Bus Terminal ก่อน (โดยสามารถนั่งรถบัสจากสถานีเจอาร์ชิโมคิตะ JR Shimokita Station มาประมาณ 10 นาที หรือ ถ้านั่งรถบัสมาจากสถานีรถไฟเจอาร์โอมินาโตะ JR Ōminato Station ก็จะใช้เวลาประมาณ 20 นาที) เมื่อมาถึงที่สถานีรถบัส Mutsu Bus Terminal ให้เปลี่ยนมาขึ้นรถบัสสายที่จะมุ่งหน้าไปซาอิ “Bound for Sai” และลงรถที่ป้ายโอมะ

 

ซากิ Omazaki bus stop (ใช้เวลาประมาณ 90 นาที / ค่ารถ 2,000 เยน / ตารางเดินรถ ) บริเวณรอบๆป้ายรถบัสจะมีร้านเล็กที่เป็นศูนย์ข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว (จะปิดบริการในช่วงฤดูหนาว) โดยจะมีบริการห้องน้ำสาธารณะและขายสินค้าที่ระลึก แล้วก็จะมีอนุสาวรีย์ที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองตั้งอยู่ห่างไปไม่กี่ก้าวอีกด้วย

 

ลิ้มรสปลาโอมะทูน่า ที่เมืองโอมะ

ภายนอกของร้านอาหาร Oomanzoku (เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh)

 

ร้านอาหารหลายๆ ร้านที่เมืองโอมะดำเนินการโดยชาวประมงท้องถิ่นและครอบครัว หลังจากที่ได้เดินสำรวจรอบๆเพื่อหาร้านที่ยังเปิดอยู่แล้วเราก็ได้ตัดสินใจที่จะเข้าไปใช้บริการที่ร้านโอมันโซคุ (大間んぞく Ōmanzoku) ชื่อร้านแห่งนี้เป็นการเล่นคำระหว่างคำว่า 大間 (Ōma) คือ เมืองโอมะ และ 大満足 (Dai Manzoku) คือ พอใจมาก และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ อาหารที่นี่ทำให้เราประทับใจมาก ร้านอาหารนี้อยู่ห่างจากป้ายรถบัสโอมะซากิ Omazaki bus stop แค่เพียง 2 นาทีเท่านั้นเอง

 

ชุดอาหาร ข้าวหน้าปลาทูน่าสามสี Sanshoku Maguro Don set. (เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh)

 

เนื่องจากว่าเราได้มีการเตรียมตัวมาตั้งแต่ก่อนเดินทางมาที่นี้แล้วว่าเมนูที่เราจะสั่งคือเมนูขึ้นชื่อของที่ร้านนี้อย่าง ข้าวหน้าปลาทูน่าสามสี Sanshoku Maguro Don (三色マグロ丼) เมนูนี้จะให้เราลิ้มรสของเนื้อปลาทูน่าสามส่วนด้วยกัน ได้แก่ ส่วนเนื้อท้องปลาที่ละลายได้ในปากเราอย่างตัว โอโทโร่ otoro (大トロ ), ส่วนเนื้อท้องปลาที่อยู่ตรงกลางที่เรียกว่า ชูโทโร่ chūtoro (中トロ), และ เนื้อปลาที่อยู่ด้านนอกที่จะมีไขมันน้อยกว่าส่วนอื่นหรือเรียกว่า อาคามิ akami (赤身) หากจะให้อธิบายรสชาติของอาหารจานนี้นั้นแค่คำพูดคงอธิบายไม่ได้หมด ต้องลองมาสัมผัสเอง

 

ปลาทูน่าสดอร่อย (ซ้าย) และปลาหมึกยักษ์ซาซิมิ (ขวา) (เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh)

 

ส่วนท้องของปลาทูน่าที่มีไขมันเป็นส่วนที่แพงที่สุดของปลาทูน่า ดังนั้นเราจะได้รับเพียงสองชิ้นเท่านั้น แต่สำหรับส่วนของ ชูโทโร่ และ อาคามิ เราจะได้รับมาอย่างละ 4 ชิ้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากเนื้อส่วนโอโทโร่เป็นส่วนที่มีความมันค่อนข้างมากอัตราส่วน 2 ชิ้น ใน 1 จานจึงเป็นปริมาณที่เหมาะสม เอาเข้าจริงๆ โอโทโร่ก็เหมือนกับเนื้อวากิวลายหินอ่อนที่มีความอร่อยนุ่มและเข้มข้น เพียงแต่ทูน่าเป็นเนื้อปลาเท่านั้นเอง

 

แม้ว่าหลายคนจะนึกถึงเนื้อส่วนท้องของปลาเมื่อเอ่ยถึงปลาทูน่าแห่งโอมะ แต่เชื่อไหมว่าหากเราได้ลองให้ชาวประมงที่นี่แนะนำว่าส่วนไหนเป็นส่วนที่ดีที่สุดของโอมะทูน่า ชาวประมงที่นี่ส่วนใหญ่จะบอกว่าส่วนที่ดีที่สุดคือ อาคามิ – เนื้อแดงที่ไม่ติดไขมัน เนื่องจากปลาโอมะทูน่าจะต้องว่ายทวนกระแสน้ำอุ่นทำให้เนื้อปลาส่วนที่ไม่มีไขมันมีคุณภาพพิเศษกว่าปลาของที่อื่น

 

เซ็ตอาหารราคา 3,400 เยนนี้ เสิร์ฟมาพร้อมกับซุปมิโซะ, ชาเขียวร้อน, และเครื่องเคียงอย่างผักดองและปลาหมึกทอด และเราได้สั่งเพิ่มปลาหมึกซาซิมิมาเพิ่มด้วย ที่ร้านมีบริการเมนูอาหารที่เป็นภาษาอังกฤษสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยนะ 

 

ภาพปลาทูน่าที่มีการประมูลสูงของร้านOomanzoku และฉลาก Oma Tuna ที่ตกแต่งร้านอาหาร (เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh)

 

ร้านอาหารแห่งนี้ดำเนินการโดยตระกูลทาเคอุจิ พ่อและลูกคู่นี้สามารถจับปลาทูน่าขนาดประมูลได้ทั้งคู่ ในปี 2001 ทาเคอุจิคนพ่อสามารถจับปลาขนาด 202 กิโลกรัมซึ่งขายได้ที่การประมูลครั้งแรกที่ตลาดปลาซึคิจิในปีนั้นด้วยราคา 20.2 ล้านเยน และในปี 2013   ทาเคอุจิคนลูกสามารถจับปลาขนาด 220 กิโลกรัมซึ่งขายได้ในการประมูลครั้งแรกที่ตลาดปลาซึคิจิในปีนั้นด้วยราคา 155.4 ล้านเยน

 

ขึ้นอยู่กับจำนวนปลาที่จับได้ในแต่ละครั้ง ร้านโอมันโซคุ จะมีการจัดแสดงการโชว์แร่ปลา (マグロ解体 maguro kaitai) ให้ดูด้วย ซึ่งก่อนที่จะทำการแสดงในแต่ละครั้งพวกเขาจะประกาศผ่านทาง เฟสบุกของร้าน  การแสดงโชว์เปิดให้ผู้คนทั่วไปได้เข้าชม หากมีโอกาสผ่านไปยังบริเวณร้านลองเข้าไปเช็คข้อมูลจากเฟสบุ๊คก่อนก็ได้ว่าทางร้านมีการจัดแสดงไหมในวันนั้น

 

ร้านโอมันโซคุ Oomanzoku (大間んぞく)
ที่ตั้ง: 17-377 Omataira, Oma-machi, Oma, Shimokita-gun, Aomori 039-4601
การเดินทาง: จากสถานีรถบัส Mutsu Bus Terminal, นั่งรถบัส 90 นาที ไปลงที่ป้าย Omazaki Bus ร้านจะอยู่ห่างจากป้ายรถบัส ประมาณ 2 นาที
เวลาเปิด-ปิด: 8:00–18:00
เบอร์ติดต่อ: +81-175-37-5633

 

การตกปลาแบบอิปปองซึริ ของ โอมะ (Oma's Ipponzuri)

อนุสาวรีย์อิปปองซึริ ที่ แหลมโอมะ (เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh)

 

เรื่องที่น่าสนใจอย่างหนึ่งที่เราได้พบที่นี่คือวิธีการตกปลาแบบดั้งเดิมของเมืองโอมะที่ชื่อว่า อิปปองซึริ ( Ipponzuri 一本釣り) หรือการตกปลาด้วยมือโดยใช้เบ็ดเส้นเดียว แม้แต่อนุสาวรย์ชื่อดังของเมืองก็ยังมีคำว่า 「まぐろ一本釣りの町 おおま」, ซึ่งแปลว่าเมืองที่จับปลาทูน่าด้วยเบ็ดแบบมือเดียว-โอมะ อิปปองซึริ Ipponzuri เป็นการตกปลาแบบดั้งเดิมซึ่งใช้สายเบ็ดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 มิลิเมตร เพื่อจับปลาทูน่าขนาดใหญ่ การใช้สายเบ็ดทำให้ปลามีความเครียดน้อยลงและจะช่วยไม่ให้ปลาเกิดการบาดเจ็บระหว่างที่โดนจับซึ่งจะมีผลทำให้เนื้อปลามีรสชาติและเนื้อสัมผัสที่อยู่ในสภาพดี และเนื่องจากใช้วิธีการจับปลาที่ค่อนข้างอยากแบบนี้ ปลาโอมะทูน่าที่ถูกจับได้บริเวณนี้จึงเป็นที่รู้จักกันดีในอีกชื่อหนึ่ง คือ "black diamonds" หรือ เพชรสีดำ

 

นอกเหนือจากปลาทูน่าแล้ว ที่คาบสมุทรชิโมกิตะแห่งนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอย่างอื่นรออยู่ด้วย คาบสมุทรชิโมกิตะเป็นประตูสู่การพักผ่อนอื่นๆในบริเวณนี้ ไม่ว่าจะเป็น ม้าคันดะชิเมะที่แหลมชิริยะ Cape Shiriya’s Kandachime Horses, หมู่บ้านออนเซนชิโมฟุโระ Shimofuro Onsen Village ซึ่งเป็นสถานที่ที่เราอยากจะแวะเข้าไปชมแต่เราไม่สามารถไปได้เนื่องด้วยกำหนดการของเราเอง ประกอบกับเวลาเปิดปิด และ ตารางรถโดยสารในช่วงฤดูหนาวที่ค่อนข้างน้อย

 

ม้าคันดะชิเมะ Kandachime Horses

  • นั่งรถบัส 60 นาที จากสถานีรถบัสมุซึ Mutsu Bus Terminal (นั่งรถบัสที่วิ่งไปชิริยะ Shiriya (ตารางเดินรถ).

ม้าคันดะชิเมะกินหญ้าในฤดูหนาว (เครดิตรูปภาพ: จังหวัดอาโอโมริ)  

 

แหลมชิริยะ (尻屋崎 Shiriyazaki) มีชื่อเสียงในเรื่อง ม้าคันดะชิเมะ Kandachime horses (寒立馬) ซึ่งเป็นม้าป่าสายพันธุ์ที่มีความแข็งแรงมาก มีความยึดหยุ่นและทนต่อสภาพอาการที่เหน็บหนาวของทางเหนือได้เป็นอย่างดี ชื่อ คันดะชิเมะ มีความหมายตามตัวอักษรว่า “ม้าที่ยืนอยู่ท่ามกลางความเหน็บหนาว” และม้าเหล่านี้ก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างอิสระในทุ่งกว้างแม้กระทั่งในฤดูหนาว แต่น่าเสียดายหน่อยนะที่คุณไม่สามารถเข้าใกล้พวกมันได้ในช่วงฤดูหนาว

 

ม้าคันดะชิเมะในฤดูร้อนโดยมีประภาคารชิริยาซากิเป็นฉากหลัง (เครดิตรูปภาพ: จังหวัดอาโอโมริ)

 

แม้เราจะไม่สามารถเข้าไปชมม้าคันดะชิเมะได้ในฤดูหนาว แต่ว่าในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤศจิกายนเราสามารถเข้าไปชมและสัมผัสพวกมันได้ เจ้าม้าคันดะชิเมะมีลักษณะเด่นอยู่ที่ ขาสั้นและร่างกายที่แข็งแรง รวมถึงลักษณะภายนอกที่ดูค่อนข้างเรียบร้อยและเป็นกันเอง บางครั้งในตอนมันอารมณ์ดีก็มีการยืนโพสต์ท่าให้นักท่องเที่ยวที่มาได้ถ่ายรูปกันเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากมันยังคงเป็นสัตว์ป่าก็ขอให้ระมัดระวังตัวเองด้วยหากต้องการเข้าไปใกล้ๆเจ้าม้าเหล่านี้

 

และที่แหลมชิริยะนี้ ก็จะมีประภาคารชิริยะซากิ Shiriyazaki Lighthouse ซึ่งเป็นประภาคารไฟฟ้าแห่งแรกของญี่ปุ่น ตั้งแต่มีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟไฟในปี 1901 ด้วย

 

หมู่บ้านออนเซนชิโมฟุโระ

  • นั่งรถบัส 70 นาทีจากสถานีรถบัสมุซึ Mutsu Bus Terminal * รถบัสที่มุ่งหน้าไปซาอิ Sai (ตารางเดินรถ)

หมู่บ้านออนเซนชิโมฟุโระ (เครดิตรูปภาพ: จังหวัดอาโอโมริ)

 

หมู่บ้านออนเซนชิโมฟุโระ (下風呂温泉郷, Shimofuro onsenkyō) เป็นหมู่บ้านออนเซ็นที่อยู่เหนือสุดของเกาะฮอนชู ใกล้กับช่องแคบซึการุ ด้วยความที่หมู่บ้านตั้งอยู่ติดกับทะเล ทำให้เราได้รับประทานอาหารทะเลที่สดใหม่ระหว่างที่เข้าพักในเรียวกัง สามารถดูข้อมูลที่พัก 9 แห่งบริเวณนี้ได้ที่นี่ ข้อมูลเรียวกัง ซึ่งจะมีทั้งข้อมูลของเรียวกัง เกสต์เฮาส์ และ โรงแรมตามความสนใจของแต่ละคน  ข้อดีของเมืองออนเซนขนาดเล็กก็คือที่พักส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะเป็นธุรกิจครอบครัวทำให้ผู้เข้าพักรู้สึกเป็นกันเองและมีความสะดวกสบาย

 

รถไฟจอยฟลู สายรีสอร์ทอะซุนาโระ (Resort Asunaro Joyful Train)

รถไฟจอยฟลู สายรีสอร์ทอะซุนาโระ และการตกแต่งน่ารัก ๆ ที่สถานีโอมินาโตะ ( Ominato Station)(เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh) 

 

รถไฟจอยฟลู สายรีสอร์ทอะซุนาโระ เป็น รถไฟท่องเที่ยว Joyful Train ที่วิ่งระหว่างสถานี ฮาชิโนเฮะ (Hachinohe Station) และ สถานีโอมินาโตะ (Ominato Station) ถ้าคุณโชคดีคุณสามารถนั่งรถไฟขบวนนี้ไปยังคาบสมุทรชิโมกิตะ รถไฟรีสอร์ทอะซุนาโระเป็นรถไฟไฮบริด – ดีเซลที่มีความสะดวกสบาย มีที่นั่งที่กว้างขวาง และมีกระจกขนาดใหญ่ ทำให้เราได้เพลิดเพลินไปกับวิวทิวทัศน์ระหว่างนั่งรถไฟเที่ยวนี้ได้เป็นอย่างดี

 

 

การเดินทาง

หากเราต้องการเดินทางไปยังคาบสมุทรชิโมกิตะ ให้เรานั่งรถไฟชินคันเซนจากสถานีรถไฟเจอาร์โตเกียว (JR Tōkyō Station) ไปยังสถานีรถไฟฮาชิโนเฮะ ( Hachinohe Station) เมื่อถึงที่สถานีรถไฟฮาชิโนเฮะให้ทำการเปลี่ยนไปนั่งรถไฟสายอาโอโมริ (Aomori Railway Line) ไปยังสถานีโอมินาโตะ (Ōminato Station) ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับตารางรถไฟในแต่ละรอบ บางครั้งเราอาจจะได้นั่งรถไฟตรงจากฮาชิโนเฮะไปยังโอมินาโตะเลย หรือ ไม่ก็อาจจะต้องไปเปลี่ยนรถไฟที่สถานีโนเฮจิ (Noheji Station) ก่อน แต่ไม่ว่าจะเป็นขบวนวิ่งตรงหรือต้องเปลี่ยนสถานีค่าโดยสารทั้งหมดจะครอบคลุมไว้อยู่แล้วถ้าเราใช้บัตรรถไฟเจอาร์อีสต์พาสแบบเหมาวัน JR EAST PASS (Tohoku area).

 

สถานีเจอาร์ชิโมชิตะ (JR Shimokita Station) ในฤดูหนาว (เครดิตรูปภาพ: JR East / Carissa Loh)

 

จากสถานีรถบัสมุซึ Mutsu Bus Terminal ในเมืองชิโมคิตะ เราสามารถนั่งรถบัสเพื่อไปเที่ยวยังจุดท่องเที่ยวต่างๆ ที่อยู่บริเวณคาบสมุทรชิโมคิตะแห่งนี้ได้ สถานีรถไฟที่ใกล้กับสถานีรถบัสมุซึที่สุดจะเป็นสถานีรถไฟเจอาร์ชิโมคิตะ (Shimokita Station) ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 10 นาทีด้วยการนั่งรถบัส หรือ อีกทางเลือกหนึ่งคือที่สถานีรถไฟเจอาร์โอมินาโตะ ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 20 นาทีด้วยการนั่งรถบัส เนื่องจากรถบัสส่วนใหญ่ที่วิ่งไปมาระหว่างที่ท่องเที่ยวบริเวณนี้จะเริ่มต้นที่สถานีรถบัสมุซึ Mutsu Bus Terminal แห่งนี้ ดังนั้นจึงมีรถบัสบางคันที่วิ่งไปถึงสถานีชิโมคิตะ Shimokita Station ด้วย แต่ด้วยที่ว่ารถบัสบริเวณนี้ดำเนินกิจการด้วยบริษัทชิโมคิตะ โคซึ Shimokita Kotsu จึงไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ที่ถือบัตรรถไฟเจอาร์อีสต์พาส อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่บัตรเจอาร์อีสต์พาสเส้นทางโทโฮคุ JR EAST PASS (Tohoku area) จะยังคงสามารถใช้บริการรถเจอาร์บัส JR bus ที่วิ่งบริการระหว่างสถานีรถไฟเจอาร์โอมินาโตะ JR Ōminato Station กับ สถานีรถบัสมุซึ Mutsu Bus Terminal แทนได้

 

JR EAST PASS (Tohoku area) และ พื้นที่การใช้งาน (เครดิตรูปภาพ: JR East)

 

หากคุณกำลังจะเดินทางไปเที่ยวเมืองโอมะและสำรวจคาบสมุทรชิโมคิตะ ลองศึกษาบัตร JR EAST PASS (Tohoku area) ซึ่งเป็นบัตรโดยสารราคาประหยัดที่ให้บริการรถไฟ JR สายตะวันออกได้ไม่ จำกัด (รวมถึงรถไฟชินคันเซน) ในพื้นที่ ได้เป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน ราคาเพียง 20,000 เยนเท่านั้น ซึ่งเทียบแล้วค่าบัตรยังราคาถูกกว่าค่าตั๋วโดยสารไปกลับระหว่างโตเกียวและชิโมคิตะ (~ 37,000 เยน) และบัตรนี้ยังคลอบคลุมถึงรถไฟสาย Aoimori ระหว่างสถานี Noheji และสถานี Ōminato / สถานี Shimokita ก็สามารถใช้ได้ด้วย คุณยังสามารถจองที่นั่งสำหรับรถไฟชินคันเซน,รถไฟด่วนพิเศษบางขบวน และรถไฟ Joyful Trains ผ่านทางออนไลน์ได้ฟรีล่วงหน้าสูงสุด 1 เดือน ที่นี่

 

JR EAST PASS (Tohoku area) สามารถใช้กับประตูตรวจตั๋วอัตโนมัติได้แล้ว และผู้ถือที่หนังสือเดินทางต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นก็มีสิทธิ์ใช้บัตรนี้ได้เช่นกัน

 

หมายเหตุ: ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2021 มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการใช้งานและราคาของ JR EAST PASS (Tohoku area) สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดตรวจสอบ  ที่นี่

 

เครดิตรูปภาพส่วนหัวบทความ: JR East / Carissa Loh

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

Share this article:
TSC-Banner